เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2568 จากกรณีที่ นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการถล่มลงมาของอาคารสูง 30 ชั้นของ สตง. ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ว่าเกิดจากอาคารอยู่ระหว่างก่อสร้าง ความแข็งแรงของตัวอาคารยังไม่เซ็ตตัว หลังเกิดการสั่นไหวก็ทำให้พังลงมา โดยพังลงมาเป็นชั้นๆ เหมือนเค้ก
ล่าสุด ดร.ณัฐพงษ์ เชื้อวังคำ เจ้าของวิทยานิพนธ์นิพนธ์ดีเด่นระดับปริญญาเอก จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.ขอนแก่น โดยมีความเชี่ยวชาญทางด้านวัสดุศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โต้ตอบในประเด็นดังกล่าว ระบุว่า ตามที่ ปภ.เผย ว่าตึกยังไม่เซ็ตตัว จึงเกิดการถล่ม ตอนแรกกะจะปล่อยผ่าน แต่ด้วยประสบการณ์ทำวิจัยด้าน Cement Construction เอาสักหน่อยแล้วกัน
– ตึกที่สร้างจนถึง 30 ชั้นขนาดนี้ ไม่มีทางที่ซีเมนต์ยังไม่เซ็ตตัว (แต่ดูจากตาเปล่า ซีเมนต์แตกเป็นผงๆแห้งๆ แบบนั้น ไม่เกิดจากซีเมนต์ไม่ได้มาตรฐาน ก็บ่มน้ำไม่พอแน่ๆ)
– อธิบายปฏิกิริยา Hydration การเซ็ตตัวซีเมนต์แบบง่ายๆ คือ Cement+H2O = 3CSH+CaOH (จริงๆเกิดได้หลายเฟสมากกว่านี้ แต่เอาเฟสหลักๆ ที่ทำให้ซีเมนต์คอนกรีตแข็งแรง คือ 3CSH (ถือเป็นกระดูกสันหลังของโครงสร้างซีเมนต์)
– โดยปกติ ถ้าสูตรการผสมถูกต้อง (W/C ratio) ซีเมนต์จะรับแรงอัดได้สูง (Maximum Compressive Strength) ตั้งแต่ 28 – 90 วัน แล้วกราฟความแข็งแรงจะเริ่มลู่เข้าขนานกับแกน X (เวลา) (ซึ่งเวลาในการก่อสร้างโครงการนี้เกินแน่ๆ)
– ถ้าอยากพิสูจน์ในส่วนนี้ก็ไม่ยาก นำชิ้นส่วนเศษปูน ไปทดสอบ X-Ray Diffraction (XRD) ดูปริมาณของเฟส 3CSH ที่ได้กล่าวในตอนต้น
– สุดท้ายพอจะคาดเดาได้ว่า ไม่เป็นที่การออกแบบ Design โครงสร้าง ก็ต้องไปดูวัสดุอื่นๆ (เหล็ก, ชนิดซีเมนต์ น้ำ หินกรวด ทราย) ตรงตามสเปกหรือไม่