วันที่ 28 พฤษภาคม 2568 ที่ห้องประชุมชั้น 12 อาคารพิทักษ์สันติ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) โดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการสอบสวนกลาง แถลงผลปฏิบัติการระดมกวาดล้างครั้งใหญ่ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรีและนนทบุรี รวมถึงสภาการแพทย์แผนไทย กวาดล้างจับกุม หมอปลอม 8 ราย และ เภสัชกรเถื่อน 3 ราย รวมถึง คลินิกเถื่อน 2 แห่ง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และชลบุรี โดยหนึ่งในผู้ต้องหามีอินฟลูเอนเซอร์ชื่อดังบน TikTok ที่แอบอ้างเป็นนักจัดกระดูกรวมอยู่ด้วย เปิดโปงพฤติกรรมสุดอันตราย
ปฏิบัติการครั้งนี้เกิดขึ้นจากการได้รับเรื่องร้องเรียนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนจำนวนมาก ให้ตรวจสอบบุคคลที่แอบอ้างเป็นบุคลากรทางการแพทย์ทำการรักษาโรค ฉีดเสริมความงาม รวมถึงร้านขายยาที่ใช้พนักงานที่ไม่ใช่เภสัชกรทำการขายยาให้กับประชาชน จากการสืบสวนพบว่ามีบุคคลเหล่านี้ลักลอบเปิดสถานที่รักษาและขายยาในหลายจังหวัด เจ้าหน้าที่จึงสนธิกำลังเข้าตรวจค้นและจับกุมในระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคมที่ผ่านมากวาดล้างหมอเถื่อนและคลินิกเถื่อน 8 จุดสำคัญ การเข้าตรวจค้น 8 จุดสำคัญในพื้นที่ชลบุรี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร พบการกระทำความผิดดังนี้:
ชลบุรี: คลินิกรักษาโรคทั่วไปใน อ.บางละมุง จับกุม นายทรงยศ (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี ข้อหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
คลินิกเวชกรรมใน อ.บางละมุง จับกุม น.ส.วริยา (สงวนนามสกุล) อายุ 52 ปี ข้อหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
คลินิกเสริมความงามใน อ.บางละมุง จับกุม น.ส.เทียนทอง (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี และ น.ส.กมลเนตร (สงวนนามสกุล) อายุ 31 ปี ผู้ให้บริการฉีดวิตามินบำรุงผิว ข้อหาเดียวกัน
นนทบุรี: คลินิกใน อ.ปากเกร็ด จับกุม น.ส.พุทธรัตน์ (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี ผู้ฉีดผลิตภัณฑ์ยา ข้อหา “ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต”
คลินิกใน อ.เมืองนนทบุรี จับกุม น.ส.เจษฎา (สงวนนามสกุล) อายุ 38 ปี ผู้ฉีดผลิตภัณฑ์ยา ซึ่งคลินิกนี้ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการและใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล แต่มีการติดเลขที่ใบอนุญาตเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ ข้อหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
กรุงเทพมหานคร:
ร้านนวดเพื่อสุขภาพในเขตบางกอกใหญ่ จับกุม นายสุรชัย (สงวนนามสกุล) อายุ 44 ปี อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามใน TikTok กว่า 180,000 คน ซึ่งทำการรักษาโรคไหล่ติดด้วยการนวด ดึง และดัดกระดูกโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทย ข้อหา “ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยโดยไม่ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต
คลินิกเสริมความงามในเขตบางกอกน้อย จับกุม น.ส.อภิชญานันท์ (สงวนนามสกุล) อายุ 33 ปี ผู้ใช้เครื่องยิงเลเซอร์กำจัดขนโดยไม่มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม ข้อหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้ขึ้นทะเบียนและรับอนุญาต
คลินิกในเขตบางขุนเทียน จับกุม น.ส.ฐิติตา (สงวนนามสกุล) อายุ 30 ปี ผู้ทำการรักษาภายในสถานพยาบาลที่ไม่ได้รับอนุญาต ข้อหา “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต” รวมของกลางที่ตรวจยึดได้ อาทิ ยาแผนปัจจุบัน ยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับ เครื่องสำอาง และเครื่องมือแพทย์ จำนวน 176 รายการ ส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีต่อไป
เภสัชกรเถื่อนและร้านขายยาผิดกฎหมาย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังขยายผลจากการกวาดล้างโรงงานผลิตยาแก้ไอปลอม พบร้านขายยากลุ่มเสี่ยงที่มีพฤติการณ์ขายยาน้ำแก้แพ้แก้ไอให้กลุ่มวัยรุ่นนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ (ผสมเป็นสารเสพติด 4X100) โดยเปิดร้านในย่านการศึกษาหรือชุมชน และจัดทำระบบสมาชิกเพื่อจูงใจให้มีการซื้อยาแก้ไอมากขึ้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2568 เจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นร้านขายยา 3 แห่งในซอยเสือใหญ่อุทิศ เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ร้านสนธิเณรฟาร์มา (หลังมอ) 2) ร้านสนธิเณร ฟาร์มา 3) ร้านยาเอ จับกุมผู้ที่ขายยาไม่ใช่เภสัชกร 3 ราย ได้แก่ น.ส.ศิวพร (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี, นายธนทัศ (สงวนนามสกุล) อายุ 27 ปี และ น.ส.มาซีเตาะ (สงวนนามสกุล) อายุ 35 ปี ในข้อหา “ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” พบยาผิดกฎหมายและยาเสื่อมคุณภาพรวม 3,378 ชิ้น และยาปลอม 317 ขวด บทลงโทษและความอันตรายที่ต้องระวัง
พฤติการณ์ของผู้ต้องหาส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์ทำงานในสถานพยาบาลหรือคลินิกเสริมความงาม ทำให้พอมีความรู้ในการทำหัตถการ และสวมรอยเป็นแพทย์รักษาประชาชน ที่น่าตกใจคือ บางรายจบการศึกษาเพียง ม.6 หรือ ปวส. เท่านั้น การเข้ารับบริการจากแพทย์ปลอมหรือคลินิกเถื่อนเหล่านี้ ทำให้ประชาชนมีความเสี่ยงสูงต่อสุขภาพและอนามัย อาจเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือเสียโฉมได้
ผู้ที่กระทำความผิดจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อาทิ: พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ.2541: ข้อหา “ประกอบกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต และดำเนินกิจการสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525: ข้อหา ประกอบวิชาชีพเวชกรรม โดยไม่ได้รับอนุญาต” โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.วิชาชีพการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2556: ข้อหา ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยหรือการแพทย์แผนไทยประยุกต์โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.วิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537: ข้อหา ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมฯ โดยมิได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาต” โทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับสำหรับร้านขายยาที่พบการขายยาปลอม จะมีโทษตาม พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 มาตรา 72(1) ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาทถึง 10,000 บาท
ผู้สื่อข่าวสยามนิวส์ รายงาน