ในสมัยนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดพระราชทานพระบรมราชานุญาต ให้กรมทหารมหาดเล็กออก ลอตเตอรี่ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย เนื่องจากในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา โดยมีนายเฮนรี่ อาล บาสเตอร์ หรือ ครูอาลบาสเตอร์ เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อำนวยการในการออกลอตเตอรี่ โดยได้มีการศึกษาและทำตามแบบของยุโรป มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพ่อค้าชาวต่างชาติที่นำสินค้ามาร่วมแสดงในงานพิพิธภัณฑ์ (โรงมิวเซียม) ที่ตึกคองคาเดีย ในพระบรมมหาราชวัง (ศาลาสหทัยสมาคม)
จึงถือว่าเป็นล็อตเตอรี่ชุดแรก หรือครั้งแรกที่มีการจำหน่ายในประเทศสยาม โดยเริ่มพิมพ์ครั้งแรกจำนวน 20,000 ฉบับ ราคาฉบับละ 1 ตำลึง หรือ 4 บาท รางวัลที่ 1 จะได้รับเงินรางวัล 100 ชั่ง คิดเป็นเงินราว 8,000 บาทในปัจจุบัน รางวัลที่ 2 ได้รับ 50 ชั่ง หรือราว 4,000 บาท และรางวัลที่ 3 ได้รับ 25 ชั่ง หรือ 2,000 บาท ซึ่งลอตเตอรี่ในยุคนั้นมีตัวเลขเพียง 4 หลัก
โดยเลขรางวัลที่ออกครั้งแรกและครั้งเดียวในรัชกาลที่ 5 รางวัลที่ 1 คือ 1672 ส่วนรางวัลที่ 2 คือ 1425 และรางวัลที่ 3 คือ 3662
ตลอดรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 มีการออกลอตเตอรี่เพียงครั้งเดียว จนกระทั่งถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 รัฐบาลอังกฤษประสบปัญหาเศรษฐกิจ จึงต้องขอกู้เงินจากไทยผ่านประชาชนชาวไทย โดยการออกลอตเตอรี่ขึ้นเป็นครั้งที่ 2 โดยไม่มีการเปิดเผยจำนวนฉบับที่จำหน่ายหรือรายได้จากการจำหน่ายลอตเตอรี่นั้น จำหน่ายใบละ 5 บาท โดยมีเงื่อนไขการจ่ายเงินรางวัล เป็นสัญญาเงินกู้ของคณะกู้เงินในการสงคราม โดยมีสภารักชาติแห่งประเทศอังกฤษ สาขากรุงเทพ เป็นผู้ลงนาม และมีประเทศสหพันธรัฐมลายู เป็นผู้ค้ำประกัน
ส่วนการออกลอตเตอรี่อีกครั้งหนึ่งในสมัยรัชกาลที่ 6 เป็นการออกลักษณะพิเศษ คือ ลอตเตอรี่เสือป่าล้านบาท เพื่อหารายได้ซื้อปืนพระราชทานให้กองเสือป่า และรัชกาลที่ 6 พระราชทานปืนรุ่นนี้ว่า ปืนพระราม 6 ซึ่งมีข้อมูลของหอจดหมายเหตุระบุว่า การออกลอตเตอรี่ได้ออกครั้งนี้และเงียบไป เนื่องจากเกิดภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ใน พ.ศ. 2475 ได้ให้มีการออกลอตเตอรี่เป็นประจำ และในปี พ.ศ. 2482 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้มีการออกลอตเตอรี่เป็นประจำ การเล่นหวยจึงได้เปลี่ยนมาใช้เลขท้าย ของลอตเตอรี่ เป็นการออกหวยแทนหวย ก ข แบบเดิม
ข้อมูล
sanook.com