ใกล้จะเปิดเทอมแล้ว มีเหล่าผู้ปกครองเริ่มพาลูกหลานต่างพากันไปซื้อชุดนักเรียนไว้ นายสมพงษ์ จิตระดับ นักวิชาการด้านการศึกษา เปิดเทอมให้ปีการศึกษา 2568 ในเดือนพฤษภาคมนี้ พบว่า สถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างวิกฤต และท้าทาย โดยเฉพาะในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และรัฐมนตรีว่าการ ศธ
เพราะปัจจุบันนี้ผู้ปกครองต้องเตรียมตัว เตรียมเงินมากขึ้น จากการสำรวจพบว่าค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เท่า อยู่ที่ประมาณ 25,000 – 28,000 บาท ดังนั้น เรื่อง เรียนฟรี ไม่มีจริง เป็น เรียนฟรีทิพย์
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ศธ.มีความพยายามเปลี่ยนแปลงเรื่องดีๆ หลายเรื่อง เช่น เครื่องแบบลูกเสือ ที่น่าชมเชย เพราะถือว่าเป็นการปรับตัวได้ดีเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาพข้อเท็จจริงกับสภาพเศรษฐกิจ และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะลดค่าใช้จ่ายผู้ปกครองได้ประมาณ 1,500 บาท หรือประมาณ 6% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ทำให้ค่าใช้จ่ายผู้ปกครองเหลือประมาณ 23,000 บาท หรือยังมีค่าใช้จ่ายอีก 94%
ดังนั้น ในสภาวะเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง และมีโอกาสเสี่ยงตกงานเยอะ หนี้สินพุ่ง การค้าขายเงียบ และยังปัญหาแรงงาน ปัญหาจีนเทา นโยบายทรัมป์เข้ามาทับถม ทำให้สภาพเศรษฐกิจ ปัญหาสังคม สภาพจิตใจ ที่ซัดกระหน่ำรุนแรง การตัดสินใจที่จะเอาลูกออกจากระบบการศึกษาเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีเด็กเคยออกกลางคันจากปี 2566 ประมาณ 1,025,214 คน โดยติดตามเด็กกลับมาเรียนได้ 9.8 แสนคน อย่างไรก็ตามจะพบว่าเด็กมีการเข้าออกระบบการศึกษาตลอดเวลา ดังนั้น การช่วยเหลือครอบครัวระดับล่าง ครอบครัวยากจน ให้สามารถไปต่อได้เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
นายสมพงษ์ กล่าวว่า แม้จะมีการลดค่าใช้จ่ายเครื่องแบบลูกเสือแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ เข้ามาอีกจำนวนมาก เช่น ค่าบำรุงโรงเรียน ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าหนังสือ ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าประกันชีวิต โดยพบว่า มีค่าใช้จ่ายมากกว่า 10 รายการ ที่ผู้ปกครองต้องจ่ายและเป็นภาระ ดังนั้น การช่วยเหลือ จะมองเรื่องการช่วยค่าเครื่องแบบลูกเสือเพียงอย่างเดียวไม่ได้
นายสมพงษ์ กล่าวว่า มองว่าสถานการณ์เด็กออกนอกระบบในเปิดเทอมใหม่ 50/50 สิ่งหนึ่งที่เริ่มค้นพบในช่วงเริ่มเปิดเทอม คือ ต้องมีการเตรียมการ คือ 1. ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นรัฐจะช่วยอย่างไร แม้จะช่วยค่าเครื่องแบบลูกเสือแล้ว แต่ช่วยเพียง 6% เท่านั้น อีก 94% จะช่วยอย่างไร
และการเรียนฟรีจะเป็นเรียนฟรีทิพย์หรือไม่ จะหาทางลดค่าเทอม ค่าบำรุงโรงเรียน ที่เป็นค่าใช้จ่ายหนักที่สุดอย่างไร สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จะช่วยอย่างไร เมื่อระบบการศึกษา เป็นภาระให้กับผู้ปกครอง ยิ่งทำให้ผู้ปกครองตัดสินใจเอาลูกออกจากระบบการศึกษาง่ายขึ้น
2. ปัจจุบันการศึกษาไม่ตอบโจทย์ชีวิต เพราะต้องการมีงานทำ ดังนั้น ต้องรีบปรับหลักสูตร เร่งพัฒนาทักษะ สมรรถนะของเด็ก โดยจะทำอย่างไรให้เกิดระบบที่เด็กสามารถเรียนไป ทำงานไปได้ ขณะเดียวกัน ผู้ปกครองต้องมีรายได้มีอาชีพด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถูกเป็นเรื่องน่าห่วงที่ถูกมองข้ามมาตลอด
3. เด็กประมาณ 1.8 ล้านคน ที่เสี่ยงหลุดนอกระบบ และยังมีเด็ก 5-6 แสนคนที่ยากจน ไม่มีหน่วยงานดูแล และมีโอกาสหลุดจากระบบสูงมาก ที่ไม่รู้ว่าจะไปต่ออย่างไร แม้จะมีทุนการศึกษาอยู่ เช่น กสศ. แต่ก็ช่วยได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีเด็กที่มีปัญหา มีข้อจำกัด เช่น ปัญหาบูลลี่ ปัญหายาเสพติด เด็กเลขศูนย์ เด็กเลขจี ประกอบกับระบบราชการยังไม่ตอบโจทย์ ทำให้เด็กค่อยๆกระเด็นออกจากระบบการศึกษา
และ 4. รายจังหวัดรายงานการติดตามเด็กกลับมาเรียนจากนโยบาย Thai zero dropout ได้ 100% อยากให้ ศธ.ติดตามเรื่องดังกล่าวให้ดี อย่างวางใจ เพราะการตามเด็กที่หลุดจากระบบการศึกษาไม่ใช่เรื่องง่าย มีเด็กจำนวนมากปฏิเสธการช่วยเหลือ เพราะมีความจำเป็นเรื่องครอบครัว ต้องหารายได้ เป็นต้น หากไม่เตรียมการรับมือเหล่านี้มีโอกาสที่เด็กไทยจะร่วง
นายสมพงษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าต้องการเด็กไทยจะไปรอด คือจะทำอย่างไรในการนำนโยบาย Thai zero dropout เชื่อมกับการเปิดเทอมที่จะถึงนี้ ตนพบว่า สพฐ. มีนโยบายตามน้องกลับมาเรียน และนำการเรียนมาให้น้อง มี 1 โรงเรียน 3 ระบบ ที่ถูกออกแบบมากดีมาก แต่ควรจะหาทุนการศึกษา หางานทำให้ผู้ปกครอง การติดตามเยี่ยมเด็กของครูก่อนเปิดเทอมต้องเอาจริงเอาจังและช่วยเหลือประคับประคอง หรือลงทุน หาแหล่งเงินกู้ให้ผู้ปกครองสามารถยืมเงินได้โดยไม่มีดอกเบี้ย
นายสมพงษ์ กล่าวต่อว่า ดังนั้น โจทย์ปีนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองจำนวน 25,000-28,000 บาท ให้เหลือเพียง 0 บาท และเด็กประมาณ 5-6 แสนคนที่ยากจนที่ไม่มีเจ้าภาพดูแล ใครจะเข้ามามีส่วนร่วมช่วยเหลือบ้าง มองว่าต้องมีนโยบายใหม่ และเน้นนโยบายที่มีอยู่เดิมให้เอาจริงเอาจังและเข้มงวด
พร้อมกันนี้จะทำอย่างไร ให้พ่อแม่ผู้ปกครองมีรายได้ มีอาชีพ นอกจากนี้ ศธ.ได้จัดทำนวัตกรรมการศึกษา โรงเรียนเคลื่อนที่ และมีโรงเรียนที่จัดการเรียน 1 โรงเรียน 3 ระบบ มากกว่า 900 โรงเรียน แต่จะทำอย่างไรให้เด็กและผู้ปกครองเข้าถึงโรงเรียนเหล่านี้
มองว่า ศธ.ต้องจัดการช่วยเหลือมิติอื่นๆ เช่น จะจัดการอย่างไรกับโรงเรียนดี เด่น ดัง ที่เรียกค่าบำรุง ค่าแป๊ะเจี๊ยะ ค่าจิปาถะ จนผู้ปกครองเดือดร้อน โดยให้โรงเรียนผ่อนปรนช่วยเหลือผู้ปกครองอย่างไร นอกจากนี้ ควรระวังเรื่องเครื่องแบบลูกเสือที่อาจจะเหมือนกับระเบียบทรงผม คือ ระเยีบถูกแก้โดยส่วนกลาง แต่ให้โรงเรียนใช้ดุลพินิจพิจารณา
ดังนั้นเมื่อเป็นดุลพินิจ อาจจะมีบางโรงเรียนอาจจะยืนกรานว่าจะเอาชุดเครื่องแบบลูกเสืออยู่ และในวันลูกเสือแห่งชาติที่จะถึงนี้ จะกำหนดให้เด็กแต่งเครื่องแบบกันหมดหรือไม่ และเด็กที่โรงเรียนยืดหยุ่นจะทำอย่างไร ดังนั้น การออกระเบียบอะไรต้องระวัง เพราะยังมีบางโรงเรียนที่ไม่ปฏิบัติตามอยู่ นายสมพงษ์ กล่าว