วันที่ 2 เมษายน 2568 ฐิติกันต์ ฐิติพฤฒิกุล สส.ภูเก็ต เขต 3 พรรคประชาชน กล่าวถึงกรณีมีประชาชนร้องเรียนว่าหอเตือนภัยสึนามิหายไปจากพื้นที่ อ.ถลาง จ.ภูเก็ต จํานวน 2 หอ ได้แก่ หอเตือนภัย WH09 บริเวณหาดไม้ขาว และหอเตือนภัย WH10 บริเวณหาดเลพัง-บางเทา สร้างความกังวลใจแก่พี่น้อง ประชาชนอย่างมาก
ตนและทีมงานจึงเข้าพื้นที่ตรวจสอบพบว่าหอเตือนภัยทั้ง 2 จุดหายไปจริง สำหรับหอเตือนภัย WH10 บริเวณหาดเลพัง-บางเทา ต.เชิงทะเล อ.ถลาง ปรากฏว่ามีโรงแรมนำรั้วมากั้น กลายเป็นหอเตือนภัยเข้าไปอยู่ในเขตโรงแรม จึงต้องตั้งคำถามว่าการก่อสร้างหอเตือนภัยโดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในเวลานั้น หรือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบัน ตั้งอยู่ในที่ดินของใคร อยู่ในที่ดินรัฐแต่เอกชนมาล้อมรั้ว หรือเป็นการสร้างในที่ดินเอกชนตั้งแต่ต้น ทั้งนี้ปีที่แล้วตนได้ปรึกษาหารือในสภาฯ 2 ครั้ง เรื่องขอให้เร่งซ่อมแซมหอเตือนภัยที่ชํารุดทั้ง 2 จุด แต่ต่อมาหอเตือนภัยกลับถูกถอดออกจากพื้นที่โดยไม่มีป้ายบอกรายละเอียด
ฐิติกันต์ กล่าวต่อว่า หลังจากตนโพสต์ภาพว่าหอเตือนภัยสึนามิหายไป ต่อมาวันที่ 31 มีนาคม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตได้นำทีมแถลงข่าว ทำให้ทราบว่าจะย้ายหอไปสร้างใหม่ที่หมู่ 9 ต.ท้ายเหมือง อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา ทำให้ยิ่งไม่เข้าใจว่าทำไมต้องย้ายไปสร้างที่ใหม่ เพราะจะทำให้มีหอเตือนภัยในเขต อ.ถลาง เพียง 2 หอซึ่งอาจไม่เพียงพอ พื้นที่หาดเลพัง-บางเทามีประชาชน โรงแรม และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จึงไม่ควรย้ายหอออกจากพื้นที่ แต่ควรติดตั้งที่เดิมและติดตั้งหอเพิ่มที่หาดท้ายเหมือง
ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบควรแจ้งให้ประชาชนทราบเพื่อคลายความกังวลสงสัย ควรมีป้ายบอกโครงการให้ชัดเจน โดยเฉพาะ ปภ.จังหวัดภูเก็ต ควรแจ้งข่าวในช่องทางสื่อสาร นอกจากนี้ ปัจจุบันทุ่นสึนามิในทะเลอันดามันก็ยังไม่ได้ติดตั้ง เท่ากับยิ่งเพิ่มความเสี่ยง เพราะไม่มีหอเตือนภัยแล้ว ยังไม่มีตัวส่งสัญญาณจากทะเลอีก จึงขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบเร่งติดตั้งหอเตือนภัยทดแทนหอที่ชำรุด เหตุภัยพิบัติเกิดได้ทุกนาทีไม่มีใครทราบล่วงหน้า และทุกนาทีคือความปลอดภัยของประชาชน
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน