เตือนเกษตรกร! ลุยน้ำ-ย่ำโคลนเสี่ยง โรคไข้ดิน อันตรายถึงชีวิต

4 ก.ค. 68 นพ.ทวีชัย วิษณุโยธิน ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา เตือนเกษตรกร ไม่ควรเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่า หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพื่อป้องกันโรคเมลิออยด์ หรือ โรคไข้ดิน ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบได้ทั่วไปในดิน ในน้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง และบ่อน้ำ

โรคนี้เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เบอร์โคเดอเรีย สูโดมัลลิอาย ที่เจอได้ทั่วไปในดิน น้ำ นาข้าว แปลงผัก สวนยาง หรือแม้แต่บ่อน้ำตามธรรมชาติทั่วประเทศ โดยเฉพาะคนที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับเกษตร งานไร่ นา จับปลา หรือทำงานที่ต้องย่ำดินย่ำน้ำบ่อยๆ คือกลุ่มเสี่ยงหลัก

เตือนเกษตรกร! ลุยน้ำ-ย่ำโคลนเสี่ยง โรคไข้ดิน อันตรายถึงชีวิต

เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทางหลักๆ

1. สัมผัสโดยตรงกับดินหรือน้ำที่มีเชื้อ โดยเฉพาะถ้ามีแผล

2. ดื่มน้ำไม่สะอาด หรือกินอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ

3. สูดฝุ่นที่ลอยมากับดินแห้งที่มีเชื้อโรค

พอรับเชื้อเข้าไป อาการจะเริ่มออกภายใน 1-21 วัน บางรายอาจใช้เวลานานกว่านั้นเป็นเดือนหรือเป็นปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของแต่ละคน รวมถึงปริมาณเชื้อที่ได้รับเข้าไป

สิ่งที่น่ากังวลคือ อาการของโรคนี้ไม่มีลักษณะเฉพาะเจาะจง มักคล้ายกับการติดเชื้อทั่วไป เช่น ไข้สูง ปวดเมื่อย เป็นฝีที่ผิวหนัง หายใจไม่สะดวก หรือบางคนรุนแรงถึงขั้นติดเชื้อกระจายทั่วร่างกาย เสี่ยงเสียชีวิต โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวอย่าง เบาหวาน ไตเรื้อรัง ธาลัสซีเมีย หรือคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ

วิธีป้องกันตัวง่ายๆ

1. หลีกเลี่ยงการลุยน้ำ ย่ำโคลนด้วยเท้าเปล่า

2. ถ้าจำเป็นต้องลงน้ำ ให้ใส่รองเท้าบูทหรือหุ้มเท้าให้มิดชิด

3. มีแผลต้องปิดให้มิดก่อนลุย

4. กลับจากทำงานควรรีบอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที

Leave a Comment