เปิดข้อมูล 20 วัตถุโบราณไทย ส่งคืนกัมพูชา มีที่มาอย่างไร ในช่วงยุครัฐบาล อุ๊งอิ๊งค์ แพทองธารก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีมติหยุดปฏิบัติหน้าที่
ในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านอย่าง กัมพูชา กำลังอยู่ในช่วงอ่อนไหว เรื่องราวที่เกี่ยวข้องก็ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ล่าสุดบนโลกออนไลน์มีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการส่งมอบวัตถุโบราณจำนวน 20 รายการที่รัฐบาลไทยได้ส่งคืนให้กับกัมพูชา จนกลายเป็นเรื่องพูดถึงกันอย่างกว้างขวาง พร้อมทั้งสร้างความสนใจในโลกโซเซียล
จุดเริ่มต้นส่งมอบวัตถุโบราณคืนให้กัมพูชา
– ปี พ.ศ.2543 กรมศุลกากรได้ตรวจยึดโบราณวัตถุเขมรที่นำเข้าโดยผิดกฎหมายซึ่งนำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์ จำนวน 43 รายการ
– ต่อมากรมศิลปากรได้มีการตรวจสอบและมอบโบราณวัตถุคืนให้กัมพูชา ตามมติ ครม. (24 ก.พ.2552 และ 13 ม.ค.2558) แล้ว จำนวน 23 รายการ คงเหลือโบราณวัตถุอีก 20 รายการ
– ปี พ.ศ.2567 นางรัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ครม. มีมติอนุมัติให้ กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) โดยกรมศิลปากร มอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้ราชอาณาจักรกัมพูชา
เพื่อเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของความตกลงทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และกัมพูชา รวมทั้งเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและกัมพูชา และแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเป็นภาคีที่ยึดมั่นและปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในความตกลงทวิภาคีอย่างเคร่งครัด
กรมศิลปากร ได้เข้าตรวจสอบแล้วไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชาหรือไม่ เนื่องจากโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่สามารถพบได้ในโบราณสถานทั้งในประเทศไทยและกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีจึงมีมติเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2558 ให้กรมศิลปากรแจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ โดยหากรัฐบาลกัมพูชาประสงค์จะขอรับโบราณวัตถุดังกล่าวคืน ขอให้รัฐบาลกัมพูชาจัดส่งหลักฐานยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรว่าโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นโบราณวัตถุที่มีถิ่นกำเนิดในกัมพูชา
รัฐบาลกัมพูชา ได้ส่งคำร้องเพื่อขอรับคืนโบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ พร้อมทั้งส่งเอกสารและหลักฐานยืนยันสิทธิเรียกร้องในโบราณวัตถุดังกล่าว ซึ่งจากการตรวจสอบของกรมศิลปากร ยืนยันได้ว่า โบราณวัตถุทั้ง 20 รายการ เป็นวัตถุที่มีแหล่งกำเนิดในกัมพูชา กระทรวงวัฒนธรรม จึงขออนุมัติมอบโบราณวัตถุ 20 รายการ คืนให้กัมพูชา ได้แก่
1. ส่วนองค์พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 4 กร ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
2. ส่วนองค์พระพุทธรูปยืน ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
3. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
4. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 18
5. ส่วนองค์พระพุทธรูปปางประทานอภัย ศิลปะเขมรแบบบายน พุทธศตวรรษที่ 18
6. ส่วนองค์เทวรูป ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
7. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน – นครวัด พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
8. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
9. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
10. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบนครวัด พุทธศตวรรษที่ 17
11. กลีบขนุนรูปทวารบาล ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
12. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
13. กลีบขนุนรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
14. กลีบขนุนรูปฤาษี ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
15. กลีบขนุนรูปพระยมทรงกระบือ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
16. กลีบขนุนรูปพระวรุณทรงหงส์ ศิลปะเขมรแบบบาปวน พุทธศตวรรษที่ 16
17. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
18. นาคปักรูปครุฑยุดนาค ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
19. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
20. กลีบขนุนรูปเทพธิดายืนอยู่ในซุ้มใบระกา ศิลปะเขมรแบบบาปวนตอนปลาย – นครวัดตอนต้น พุทธศตวรรษที่ 16 – 17
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 โฆษกรัฐบาลได้ส่งข้อความชี้แจงจากเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ระบุว่า ภายหลังคณะรัฐมนตรีมีมติในปี 2567 อนุมัติให้ส่งมอบวัตถุโบราณจำนวน 20 ชิ้นที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นของกัมพูชา กระทรวงวัฒนธรรมของทั้งสองประเทศได้ร่วมกันประสานงานเพื่อเตรียมการส่งมอบ
โดยวัตถุโบราณทั้งหมดจะถูกส่งคืนทางบก ผ่านทางเมืองเสียมราฐของกัมพูชา ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2568
src=”https://sv168.siamnews.com/17/2507048ank0.png” width=”800″ height=”694″ />