วันที่ 22 พ.ค. 68 ที่ ชั้นสอง อาคารประชาอารักษ์ บช.ก. พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รอง ผบช.ก. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แถลงความคืบหน้า คดีอดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ยักยอกเงิน 300 ล้านบาท
พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงความคืบหน้ากรณี ทิดแย้ม อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง โดย พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ระบุว่า 7 วันที่ผ่านมาสำหรับคดีนี้ ทางเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยได้ลงพื้นที่ และเก็บข้อมูลรายละเอียดมาได้เพิ่มเติม โดยทางเจ้าหน้าที่มีการมุ่งเน้นไปที่การหยุดยั้งการกระทำความผิดและความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัด โดยจะต้องแยกว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องบุคคล ไม่ใช่ส่วนรวม ซึ่งการสืบสวนมีทั้งการส่งคนไปสอดแนมเก็บข้อมูลรวบรวมหลักฐาน และการสืบสวนทางเทคโนโลยี จนสามารถได้ข้อมูลมา
พันตำรวจเอกภัทราวุธ อ่อนช่วย ผู้กำกับการกองกำกับการ 5 กองบังคับการปราบปราม เปิดเผยว่า ภายหลังมีผู้ร้องเรียนถึงเรื่องดังกล่าว ผู้บัญชาการได้มีคำสั่งส่งเรื่องมายังกองกำกับการ 5 เพื่อทำการตรวจสอบโดยมีคำสั่งให้ดำเนินการอย่างตรงไปตรงมา หากพบว่ามีความผิดก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย แต่หากไม่มีมูลก็ต้องชี้แจงให้เกิดความเป็นธรรม โดยไม่มีการกลั่นแกล้ง หรือใส่ร้ายใคร จากนั้นได้มีการจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่งในเบื้องต้น มีเจ้าหน้าที่รวม 6 นาย แบ่งการทำงานออกเป็น 2 ส่วนหลัก ได้แก่
1.ชุดวิเคราะห์ข้อมูลการเงิน เนื่องจากลักษณะคดีเกี่ยวข้องกับการเงิน จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินอย่างละเอียด ทั้งบัญชีวัด การใช้จ่าย และการโยกย้ายเงินต่าง ๆ เพื่อหาข้อพิรุธ
2.ชุดลงพื้นที่สืบสวนภาคสนามโดยมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ภายในวัด เพื่อรวบรวมข้อมูล สืบหาผู้เกี่ยวข้อง และตรวจสอบพฤติกรรม ตลอดจนความเชื่อมโยงของบุคคลต่าง ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการใช้เงินวัดในลักษณะที่ไม่เหมาะสม โดยหลังจากการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด พบว่ามีความน่าเชื่อถือว่า อดีตเจ้าอาวาสมีการยักยอกเงินของวัดไปใช้ในทางส่วนตัว โดยมีทั้งการนำเงินไปให้บุคคลอื่นในวัดใช้ และนำไปใช้ในกิจกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น การเล่นการพนัน
ด้านพันตำรวจเอกจำนาญ จันทร์เทศ ผู้กำกับการ5 กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ(บก.ปปป.) ระบุว่า หลังจากที่เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบการตรวจสอบบัญชีย้อนหลังตั้งแต่ ปี 64 มีเงินหมุนเวียนกว่า 300 ล้านบาท ล่าสุดมีการขยายผลตรวจบัญชีธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งของวัดและมูลนิธิจำนวน 51 บัญชี บัญชีส่วนตัวของทิดแย้มอีก 21 บัญชี และนางสาวอรัญญาวรรณอีก 12 บัญชี โดยมุ่งเน้นไปที่เงินหมุนเวียนของนางสาวอรัญญาวรรณ ที่เป็นผู้รับผลประโยชน์ โดยพบว่าตั้งแต่ปี 59 ตรวจเจอบัญชีมีเงินหมุนเวียนทั้งหมดกว่า 2,000 ล้านบาท โดยพบว่ามีช่องทางการรับเงิน 4 ช่องทาง ประกอบด้วย 1.เป็นการฝากเงินสดเข้าบัญชี 2.รับโอนเงินจากอดีตเจ้าอาวาสโดยตรง 3.โอนเงินจากพระเอกพจน์ คนสนิทของ อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง และ4.รับโอนเงินจากนายชัชชัย
พันตำรวจโทสิริพงษ์ ศรีตุลา ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. กล่าวว่า บัญชีวัดพบความผิดปกติหลายรายการ น่าจะเป็นการทำบัญชีไม่โปร่งใสยกตัวอย่างเช่น การเปิดเช่าร้านค้างานประจำปี ซึ่งหนึ่งปีจะมีรายได้ประมาณ 30 ล้านบาท โดยเดิมทีมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร แต่ปี 63 เป็นต้นมา มีการนำเงินสดทั้งหมดไปมอบให้กับเจ้าอาวาส โดยรวมประมาณ 200 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบเงินจากกฐินเข้าบัญชีเจ้าอาวาสอีก 20 ล้านบาท และยังมีเงินจากวัตถุมงคล ซึ่งยังไม่ระบุจำนวนแน่ชัด จากการตรวจสอบพบผู้เกี่ยวข้อง 2 คน ซึ่งเป็นสามีภรรยากัน โดยที่มาที่ไปในการเปิดร้านค้าสวัสดิการ เป็นที่น่าสงสัย ซึ่ง ป.ป.ท. จะต้องไปตรวจสอบในเชิงลึกและติดตามทรัพย์สินต่อไป
ขณะที่ นายสุทธิศักดิ์ สุมน ผู้อำนวยการกองกฎหมาย และรองโฆษกประจำสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เปิดเผยว่า เบื้องต้น ปปง. ต้องพิจารณาว่าการกระทำของอดีตเจ้าอาวาสเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายในฐานใด โดยในกรณีนี้เจ้าอาวาสถือเป็น เจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญา และหากพบว่ามีการกระทำผิดเกี่ยวกับการนำเงินวัดไปใช้ส่วนตัว ก็จะเข้าข่ายความผิดตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน
นายสุทธิศักดิ์ กล่าวต่อว่า เมื่อเข้าเกณฑ์ความผิดมูลฐานแล้ว หน้าที่ของ ปปง. คือการตรวจสอบทรัพย์สินและดำเนินการอายัดหรือยึดทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง โดย ปปง. ได้เข้าตรวจสอบข้อมูลจากฐานข้อมูลที่ บก.ปปป. และจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า รายชื่อผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ได้แก่ ทิดแย้มและผู้มีความเกี่ยวพันอีกจำนวนหนึ่ง ทั้งนี้มีการตรวจพบธุรกรรมทางการเงินจำนวนมากซึ่งมีความผิดปกติ จึงนำหลักฐานดังกล่าวส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการสืบสวนต่อ เพื่อหาว่าใครเกี่ยวข้องหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดนี้บ้าง
ขณะนี้ ปปง. ได้เริ่มขยายผลการตรวจสอบเป็น 3 วงด้วยกัน ได้แก่ วงที่ 1 ผู้กระทำความผิดโดยตรง วงที่ 2 และ 3 ผู้ที่มีความเชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องสัมพันธ์ ซึ่งอาจครอบคลุมถึงบุคคลภายนอกหรือเครือข่ายที่รับผลประโยชน์ โดยหน้าที่ของ ปปง. จะเน้นในด้านการตรวจสอบบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ และการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถาบันทางการเงิน ที่มีการรายงานธุรกรรมเข้ามา
ด้านนายบุญเชิด กิตติรางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เปิดเผยว่า วัดทั่วประเทศกว่า 40,000 แห่ง ในปัจจุบันมีการจัดทำบัญชีรายรับรายจ่ายประจำปีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นบัญชีในรูปแบบพื้นฐานที่มีมาตรฐาน ตัวอย่างจากวัดนำร่อง 75 แห่ง ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติได้จัดทำไว้เป็นต้นแบบ อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นล่าสุด ทำให้เกิดการทบทวนระบบการบริหารจัดการวัดอย่างจริงจัง โดยสมเด็จพระสังฆราชได้มีพระลิขิตมายังสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เพื่อขอให้พิจารณาแนวทางในการนำเสนอข้อปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งแสดงถึงความห่วงใยของพระองค์ท่านต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจึงได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การประชุมของมหาเถรสมาคม และมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างระบบบริหารจัดการวัดให้มีประสิทธิภาพและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยเสนอเป็นแนวทางปฏิบัติ 4 ข้อหลัก ดังนี้
1.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการสาธารณสมบัติของวัด โดยมีประธานกรรมการฝ่ายสาธารณูปการของมหาเถรสมาคมเป็นประธานอนุกรรมการ ทำหน้าที่วางแนวทางและข้อเสนอเชิงนโยบาย
2.ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและการคลัง อาทิ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อร่วมกันกำหนดกฎเกณฑ์ และกระบวนการบริหารจัดการทรัพย์สินของวัด ก่อนเสนอต่อมหาเถรสมาคมเพื่อประกาศเป็นข้อบังคับใช้ทั่วประเทศ
3.จัดทำบัญชีวัดให้ได้มาตรฐานตามหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล โดยกำหนดนโยบายให้การจัดทำบัญชีมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นระบบที่ได้มาตรฐาน
4.ส่งเสริมการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ในการรับบริจาคและทำบัญชีวัด เพื่อให้ข้อมูลด้านการเงินสามารถตรวจสอบได้สะดวก และสอดคล้องกับข้อกำหนดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสรรพากร
สำหรับประเด็นสุดท้าย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปในครั้งนี้ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติจะจัดตั้งกองส่งเสริมการจัดการสาธารณสมบัติของวัด ควบคู่กับ กองกฎหมาย และ กองกิจการในตำรวจสังฆราช ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 1 มิถุนายน 2568 โดยทั้ง 3 กองนี้จะมีภารกิจตามกฎหมายอย่างชัดเจน และมีโครงสร้างรองรับในการแก้ไขปัญหาการจัดการทรัพย์สินวัดในเชิงลึก
นายบุญเชิดยังกล่าวย้ำว่า กรณีที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ไม่ใช่ภาพสะท้อนของคณะสงฆ์หรือวัดโดยรวม พร้อมยืนยันว่าวัดยังคงเป็นสมบัติของชุมชนและของแผ่นดิน เช่นกรณีวัดไร่ขิงก็ยังต้องเดินหน้าต่อในฐานะศูนย์กลางจิตใจของประชาชน พร้อมขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันดูแลรักษาวัดให้คงอยู่เป็นสมบัติของชาติต่อไป
โดยขณะการแถลงข่าวนั้น ได้มีการเปิดไฟล์คลิปเสียงระหว่าง ทิดแย้ม กับนางสาวอรัญญาวรรณ พูดคุยกัน ซึ่งทางพลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ระบุว่า ในคลิปมีการพูดถึงเรื่องต้องโอนเงินเข้าระบบการเล่นการพนัน ที่ค้าง 4 งวด เป็นจำนวนเงิน 2 ล้านบาทโดยเข้าใจได้ว่าเป็นทางทิดแย้มโอนเงินให้ทางนางสาวอรัญญาวรรณไปเล่นการพนัน และจากข้อมูลโทรศัพท์ของทิดแย้ม ยังไม่พบความสัมพันธ์จากตัวทิดแย้มในการเล่นพนัน แต่ทิดแย้ม ทราบว่านางสาวอรัญญาวรรณเล่นการพนัน
พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ บอกอีกว่า ตามข้อมูลนางสาวอรัญญาวรรณ เป็นเด็กข้างวัด เรียนอยู่ที่วัดไร่ขิง ตอนอยู่มัธยมต้นมาทำกิจกรรมจิตอาสาที่วัด หลังจากนั้นก็ออกไปทำงานปรากฏว่าค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอ จึงไปขอร้องหยิบยืมทิดแย้ม เพราะทิดแย้มเคยพูดว่าเป็นเด็กวัดไร่ขิง มีแหวนวัดไร่ขิง ถ้ามีปัญหาอะไรให้มาพบได้
นางสาวอรัญญาวรรณจึงมายืมเงินทิดแย้ม 50,000 – 60,000 บาท ทางด้านทิดแย้มก็ช่วยเหลือไป หลังจากนั้นก็เริ่มติดต่อสัมพันธ์พูดคุยกันทุกวัน และมีการโอนเงินให้เล็กๆน้อยๆ จากนั้นก็เริ่มมีการแลกเปลี่ยนกัน แสดงถึงความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งถึงขั้นมีการพูดคุยโชว์หน้ากัน หลังจากพูดคุยลงต่ำไปเรื่อยๆ ทำให้เงินของวัดเริ่มไหลออกจากบัญชีวัดเรื่อยๆเช่นกัน
ทั้งนี้ในช่วงแรกยังยืนยันไม่ได้ว่าทิดแย้มกับนางสาวอรัญญาวรรณ มีความสัมพันธ์กันหรือไม่ แต่ตรวจสอบได้ว่าในช่วงที่เริ่มมีเงินไหลออกจากบัญชี มีการติดต่อสัมพันธ์พูดคุยกันในช่วงนั้น ซึ่งเป็นช่วงปี 63 – ปลายปี 67 (ช่วงหวาน ปี 63 , ช่วงขมปลายปี 67) และในคลิปเสียงคาดว่าน่าจะเป็นช่วงปลาย ปี 67 โดยโต้แย้งกันเรื่องของเงินที่จะไปเล่นการพนัน ซึ่งทิดแย้มหมดทางที่จะไปต่อ เงินวัดร่อยหรอ และไม่รู้จะไปยืมเงินใคร มิดแย้มจึงรู้ตัวว่าไม่ไหวแล้ว
ต่อมาอีก 2 เดือน ประมาณเดือนธันวาคม 67 นางสาวอรัญญาวรรณและสามีก็ถูกตำรวจไซเบอร์จับกุม และได้ไปขอความช่วยเหลือจากทางทิดแย้มอีกครั้ง โดยได้พูดกับทิดแย้มว่าคลิปต่างๆที่มีอยู่รวมถึงคลิปเซ็กส์โฟน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ของตำรวจไซเบอร์ยึดไป เพื่อแบล็กเมล์ทิดแย้มให้ช่วยเหลือ ส่วนจะเข้าข่ายการรีดทรัพย์ทิดแย้มหรือไม่ พลตำรวจตรีจรูญเกียรติ ตอบว่า เรื่องนี้มองเป็น 2 เรื่อง เรื่องแรกคือการทุจริต เรื่องที่สองคืออุบายการเเบล็กเมล์ อย่างไรก็ตามทิดแย้ม ได้กระทำผิดสำเร็จแล้ว จึงยืนยันว่าไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ จึงอยากเรียนให้ทราบเพื่อไม่เข้าใจว่าทิดแย้มเป็นผู้ถูกแบล็กเมล์ ทั้งนี้ ยังไม่ปรากฏแน่ชัดว่าทางทิดแย้มกับนางสาวอรัญญาวรรณมีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวหรือไม่
ส่วนกรณีหมอเตยและสามีเป็นเรื่องที่ตรวจสอบรายละเอียดลึกลงไป พบว่าทั้งคู่ได้เข้ามารู้จักกับเจ้าอาวาสตั้งแต่ปี 51 โดยพบว่าหมอเตยเป็นหมอดูร่างทรงไม่ใช่หมอ และยังพบว่าเป็นผู้มีอิทธิพลกับทิดแย้มอย่างมากในการบริหารจัดการภายในวัด โดยสิ่งที่พบคือร้านค้าสวัสดิการในวัด มีคนมาร้องว่าไปซื้อกาแฟ แต่บัญชีในการสแกนไม่ใช่ชื่อของวัดแต่เป็นชื่อของบุคคล ซึ่งก็จะต้องสืบสวนดำเนินการต่อ
โดยจากการสืบสวนเบื้องต้นข้อมูลที่ได้มาพบว่าหมอเตยเคยเขียนหนังสือความเชื่อมโยงการเกิด แก่เมื่อชาติปางก่อน ว่าทิดแย้มกับหมอเตยมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ซึ่งข้อมูลนี้เป็นการสอบถามข้อมูลจากคนใกล้ชิด แต่ยังหาพยานหลักฐานไม่ได้ว่าทั้งสองคนมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกันหรือไม่ โดยยังพบว่าในช่วงแรกทางทิดแย้มมีการดุด่าว่ากล่าวหมอเตย แต่ช่วงหลังมีการเปลี่ยนไปไม่ฟังเสียงคนอื่น นอกจากนี้ยังพบอีกว่าตั้งแต่ปี 51 มีผู้ชาย 5 คนเข้ามาเกี่ยวข้องกับหมอเตยอีกเช่นกัน แต่ยังไม่ทราบตอนนี้ว่ามีความสัมพันธ์
ผู้สื่อข่าวนครบาล ทีมข่าวสยามนิวส์ รายงาน