เรื่องนี้มีที่มาจาก เพจ นักเรียนเลว ได้รับเรื่องร้องเรียน หลังรองผู้อำนวยการและครูโรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.แกลง จ.ระยอง บังคับตัดผมนักเรียนหญิงประมาณ 15 คน ระหว่างวันปฐมนิเทศเมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2568 โดยนักเรียนเหล่านี้ถูกตัดผมให้แหว่ง เนื่องจากไว้ผมยาวเกินระยะกลางแผ่นหลัง ขณะที่นักเรียนชายที่ทรงผมไม่เป็นไปตามระเบียบ ถูกสั่งให้กลับบ้านไปแก้ไขเอง
โดยผู้ร้องเรียนระบุว่า นักเรียนบางรายแก้ทรงผมต่อได้ยากเพราะถูกตัดจนเสียรูปทรง อีกทั้งเมื่อมีนักเรียนแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ดังกล่าวในโพสต์ของโรงเรียนบนโซเชียลมีเดีย กลับพบว่าความคิดเห็นเหล่านั้นถูกลบ ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงสิทธิในการแสดงออกของนักเรียน
แม้ ศธ. ได้ออกประกาศยกเลิกระเบียบทรงผมนักเรียนไปแล้วตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2566 และต่อมาได้ออกแนวนโยบายเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2566 โดยเปิดทางให้สถานศึกษากำหนดลักษณะทรงผมตามบริบทและความเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ข้อความในแนวนโยบายกลับถูกนำไปใช้เป็นข้ออ้างในการควบคุมทรงผมนักเรียนต่อไป
การบังคับตัดผมโดยไม่คำนึงถึงเพศสภาพหรือความแตกต่างส่วนบุคคล อาจเข้าข่ายละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กและรัฐธรรมนูญ นักเรียนจึงสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายในการฟ้องร้องเรียกร้องความเป็นธรรมได้
ทั้งนี้ แม้การยกเลิกกฎกระทรวงจะดูเหมือนเป็นชัยชนะของนักเรียน แต่ความขัดแย้งกลับเปลี่ยนจากระดับนโยบายสู่ระดับปฏิบัติการภายในโรงเรียน วัฒนธรรมในโรงเรียนยังละเมิดสิทธิเด็กอยู่ ทำให้การต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการไว้ทรงผมยังไม่สิ้นสุดลง
อย่างไรก็ตาม ตราบใดที่โรงเรียนยังยึดถือระบอบอำนาจนิยม และครูยังถือกรรไกรเป็นเครื่องมือควบคุม นักเรียนไทยคงต้องเดินหน้าทวงคืนสิทธิ์เหนือร่างกายตนเองต่อไป
ขณะที่ นายพงศธร ศรเพชรนรินทร์ สส.ระยอง เขต 3 พรรคประชาชน แชร์โพสต์ดังกล่าว พร้อมระบุว่า โรงเรียนแห่งหนึ่งใน อ.แกลง ใครทราบไหมครับว่าโรงเรียนไหน ผมจะรีบดำเนินการทันที ทำแบบนี้ผิดกฎกระทรวง ละเมิดสิทธินักเรียน ยอมไม่ได้ครับ