กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เป็นกำลังหลัก ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามากู้ภัยนั่งรอ

กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เผยนำออกแล้ว 3,500 ตัน จาก 40,000 ตัน ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามาให้กู้ภัยนั่งรอ ไม่มอบภารกิจ

วันที่ 6 เม.ย. 2568 รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายสุริยชัย รวิวรรณ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. และผู้อำนวยการเขตจตุจักร แถลงความคืบหน้าการปฏิบัติการค้นหาผู้สูญหายในพื้นที่อาคารสตง.ถล่ม วันที่ 9 เข้าสู่วันที่ 10

นายสุริยชัย กล่าวถึงการปฏิบัติงานว่า บริเวณโซน B วันนี้จะเอาซากทาวเวอร์เครนที่ล้มทับอยู่ในกองตั้งแต่วันเกิดเหตุออก แล้วจะทำการค้นหาอีกครั้ง โดยการเอาปูนที่แตกออกมาถมลงกลับไปที่พื้น หลังจากที่ค้นหาบริเวณนั้นแล้วไม่พบผู้สูญหายเพิ่ม เพื่อให้เครื่องจักรหนักและรถแบ็กโฮแขนยาวได้เข้าไปทำงานที่บริเวณจุดนั้นได้ เพื่อช่วยปฏิบัติงานโซน B และ C ในการนำยอดกองซากปรักหักพังที่มีซากปูนและเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งมีโอกาสจะสไลด์ลงมาได้ทุกด้านออกก่อน ก็จะทำให้การปฏิบัติงานคล่องตัวมากขึ้น

กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เป็นกำลังหลัก ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามากู้ภัยนั่งรอ

นายสุริยชัย กล่าวต่อว่า ส่วนโซน C ได้เอาตัวทางเชื่อมของอาคารลานจอดรถกับอาคารที่ถล่มที่ห้อยอยู่ออกแล้ว เพราะถือเป็นพื้นที่เสี่ยงกับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยการดำเนินการขุดเข้าไปในจุดโถงบันไดโซน B และโซน C ที่ทราบข้อมูลจากผู้รอดชีวิต ว่า วิ่งหนีออกมากับเพื่อนๆ คนอื่นมาบริเวณทางเชื่อมลานจอดรถ พอหันกลับไปก็เห็นเพื่อนถูกอาคารถล่มทับ คาดว่าจะมีความคืบหน้าเพิ่มเติม ขณะที่โซน A ด้านหน้า กับโซน D ก็ดำเนินการควบคู่กันไปเพื่อไม่ให้เกิดความล่าช้า

นายสุริยชัย กล่าวอีกว่า เจ้าหน้าที่ยังมีการดำเนินการคอยใช้กล้องมอนิเตอร์การทำงานของเครื่องจักร เพื่อสังเกตจุดที่จะตักและขุดเจาะเปิดพื้นที่ และยังมีทีมโดรนจะซูมเข้าไป คอยสังเกตการทำงานของเครื่องจักร เพื่อค้นหาผู้ประสบภัย และไม่ให้กระทบกับผู้ประสบภัยระหว่างดำเนินการ

นายสุริยชัย กล่าวต่อว่า ทุกๆ วันเมื่อมีการขนซากเหล็กและปูนออกแล้ว เวลา 08.00 น. จะให้ทีม K9 เข้าไปค้นหา เพื่อให้เกิดความละเอียดรอบคอบแม่นยำถึงตำแหน่งของผู้สูญหาย ส่วนการปรับแผนการบินโดรน เพื่อให้ช่วยสนับสนุนการทำงานของทีมช่าง

กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เป็นกำลังหลัก ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามากู้ภัยนั่งรอ

ส่วนกรณีที่พบประเด็นดรามาว่ากู้ภัยไปนั่งรอ แต่ไม่มีการมอบหมายภารกิจนั้น นายสุริยชัย อธิบายว่า การทำงานจะแบ่งเป็นทีมค้นหา และทีมกู้ภัย, ทีมเครื่องจักรกล และทีมช่าง, ทีมช่วยเหลือทางแพทย์ ซึ่งตอนนี้ปรับแผนมาให้ทีมเครื่องจักรหนักเป็นหน่วยงานหลัก ส่วนอีก 2 ทีมเป็นทีมสนับสนุน

นายสุริยชัย กล่าวต่อว่า ทีมค้นหาจะช่วยสังเกตการณ์ด้วยการมอง ส่องกล้องระหว่างการทำงาน ถ้าเจอผู้ประสบภัย เครื่องจักรหนักก็จะหยุดแล้วให้ทีมค้นหากู้ภัยเข้าไปตรวจสอบ หากร่างกายติดกับตัวอาคารก็จะเคลื่อนย้ายซากอาคารเพื่อนำร่างออก

นายสุริยชัย กล่าวอีกว่า เมื่อปรับมาใช้เครื่องจักรหนักก็ไม่สามารถให้ปฏิบัติงานที่ใช้คนจำนวนมากได้เหมือนเดิม เพราะจะก่อให้เกิดอันตราย ดังนั้น ต้องให้กลุ่มจำนวนกู้ภัยลดลง และรอระยะเวลาพักคอยจนกว่าจะพบ ถึงจะดำเนินการ ตามขั้นตอนก็คือจะต้องมารายงานตัว แล้วลงทะเบียนการรายงานตัวเพื่อเช็กอุปกรณ์ และนำเข้าไปนั่งรอ เมื่อถึงเวลาจึงจะเรียกเป็นชุดวนรอบ เนื่องจากการทำงานอาจจะใช้เวลานาน จึงใช้เวลาชุดละ 20 นาทีเปลี่ยนครั้งหนึ่ง

กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เป็นกำลังหลัก ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามากู้ภัยนั่งรอ

นายสุริยชัย กล่าวต่อว่า ส่วนการรื้อถอนซากปรักหักพัง จากการประเมินโดยใช้เทคโนโลยี จากวันแรกถึงปัจจุบัน 9 วันนั้นนำออกไปได้ 3,500 ตัน จาก 40,000 ตัน ซึ่งทุกจุดยังอันตรายเพราะไม่แน่ใจว่าด้านล่างเป็นโพรงหรือไม่ ในการทำงานที่เจอปัญหาวัตถุชิ้นใหญ่บนยอด พอยิ่งดำเนินการยิ่งชัน วิศวกรกังวลเรื่องการสไลด์ จึงมีการปรับแผนดังกล่าว โดยการใช้เครื่องจักรหนักไปนำยอดของกองซากลงมาก่อน

ขณะที่ รศ.ทวิดา บอกว่า กรณีที่พบเจอ 2 ร่าง แต่ยังนับเพิ่มในยอดผู้เสียชีวิตเป็น 1 รายนั้น เพราะแม้จะส่งไปนิติเวชโรงพยาบาลตำรวจแล้ว แต่ทางนิติเวช ยืนยันกลับมาเพียงแค่ 1 ร่าง ส่วนอีก 1 ร่าง จะต้องรอการพิสูจน์อัตลักษณ์บุคคลยืนยันให้แน่ชัดก่อน

รศ.ทวิดา กล่าวต่อว่า ที่ตัวเลขไม่ตรงกันก่อนหน้านี้ เพราะการนับของเจ้าหน้าที่หน้างาน จะนับจากการนำชิ้นส่วนมาประกอบเป็นร่าง แต่การนับทางการของนิติเวช จะต้องนับหลังยืนยันอัตลักษณ์บุคคลแล้วเท่านั้น หลังจากนี้จึงต้องปรับกระบวนการนับยอดผู้เสียชีวิตที่ยืนยันจากนิติเวช รพ.ตำรวจเท่านั้น

กทม. ปรับแผนให้เครื่องจักรรื้อซาก สตง.ถล่ม เป็นกำลังหลัก ชี้ทุกจุดยังอันตราย แจงดรามากู้ภัยนั่งรอ

รศ.ทวิดา กล่าวอีกว่า ส่วนการเยียวยาผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในพื้นที่ กทม. สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบสามารถไปจดแจ้งเพื่อขอรับการเยียวยาได้ที่สำนักงานเขตจตุจักรที่เดียว ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.เป็นต้นไป ไม่ต้องไปที่สถานีตำรวจ โดยจะจัดระบบเป็นช่วงๆ ของการเยียวยา เพราะมีมากกว่า 40,000 กว่าเคสแล้ว สำหรับผู้ที่แจ้งได้รับความเสียหายในพื้นที่ กทม. จากนั้นฝ่ายโยธาเขตจะลงไปตรวจสอบเพื่อประเมินความเสียหายและจ่ายเยียวยาในการซ่อมแซม

รศ.ทวิดา กล่าวต่อว่า ขณะที่การเยียวยาผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ อยู่ระหว่างการหารือกับกรมบัญชีกลางเพื่อกำหนดรายละเอียดเพดานการเยียวยา และต้องรอว่าจะมีกระบวนการอย่างไร

Leave a Comment