อธิบดีดีเอสไอเผย ใช้ “AI” ช่วยวิเคราะห์ จับพิรุธฮั้วเลือก สว.67 จับกลุ่มก้อน-จุดทิ้งโพย-จุดเข้าออก
เมื่อเวลา 17.40 น. วันที่ 25 เม.ย.68 ที่อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม และคณะผู้บริหารกรมสอบสวนคดีพิเศษ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ, พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค และในฐานะโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ, นายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา และ พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะผู้นำกลุ่ม สว.สำรอง ร่วมกันเข้าสังเกตการณ์ ตรวจสถานที่คัดเลือก สว. ระดับประเทศ และจำลองเหตุการณ์ เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษในคดีฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และใช้ประกอบการไต่สวนของ กกต.
พล.ต.ท.คำรบ เป็นผู้บรรยายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันดังกล่าวทั้งหมด โดยมีการระบุว่าอะไรอยู่ส่วนไหนของห้องประชุม รวมถึงลำดับขั้นตอนที่ผู้สมัครจะต้องดำเนินการก่อนเข้าสู่หน่วยเลือกของตัวเอง ก่อนจะพาอธิบดีดีเอสไอ ชมสถานที่จำลองการเลือกสว.ระดับประเทศรอบเช้า ในช่วงเช้าผู้สมัครยังไม่เห็นถึงความผิดปกติ แค่สังเกตว่าในช่วงของการนับคะแนนที่จะเห็นว่ามีการค้านคะแนนมักจะเป็น 10 หมายเลขเดิมซ้ำกันหลายครั้ง จนเพื่อนอิจฉา และสังเกตเห็นคนบางกลุ่มถือแฟ้มมาคอยจด เสมือนคอยเช็คการนับคะแนนแต่ตอนนั้นยังไม่สงสัยเรื่องโพย
จนกระทั่งถึงรอบเลือกไขว้ในช่วงเย็น หลังมีการแบ่งกลุ่มและทุกคนทราบว่าตัวเองอยู่กลุ่มไหนเริ่มหยิบโพยขึ้นมาลอกกันจนมีผู้สมัครบางคนโวยวายว่าเอาโพยมาลอกกันอย่างนี้ได้อย่างไร ทำให้คณะกรรมการห้ามนำเอกสาร สว. 3 เข้าคูหาเลือกไขว้ ให้ทิ้งไว้ที่หน่วยของตัวเอง และเมื่อเข้าไปยังคูหาเลือกไขว้เจ้าหน้าที่ได้แจกเอกสาร สว.3 ฉบับใหม่ให้ แต่ยิ่งทำให้สถานการณ์โกลาหลมากกว่าเดิม เพราะทุกคนหยิบโพยขึ้นมาลอกลงในเอกสาร สว.3ฉบับใหม่
ซึ่งตนเห็นได้ชัดเจนจากคนที่นั่งข้างๆ ตัวเอง แต่สิ่งที่ผิดปกติมากที่สุดเกิดขึ้นตอนนับคะแนน จดเบอร์เซ็ตเดียวกันหลายครั้ง จึงเกิดการรวมตัวกันเพื่อไปร้องเรียน ซึ่งพบผู้บริหารของ กกต.พอดีจึงเดินเข้าไปแต่ท่านบอกว่าไม่สะดวก นอกจากนี้ยังมีคนไปพบโพยในห้องน้ำ และถ่ายรูปลงไลน์กลุ่มตนจึงได้นำไปเปรียบเทียบกับผลคะแนนพบว่า คนที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งของแต่ละกลุ่มตรงกับโพยทุกประการ หลังจากการเลือกเสร็จสิ้นเริ่มมีโพยฉบับอื่นปรากฏขึ้นและถูกใช้เป็นหลักฐาน
หลังจากการอธิบายเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ได้เปิดภาพกล้องวงจรปิดในหน่วยเลือก สว.ในวันที่ 26 มิ.ย.67 ซึ่งกล้องวงจรปิดทั้งหมดเป็นของกกต.และได้ส่งไฟล์ภาพที่สมบูรณ์ทั้งหมดให้กับดีเอสไอ จำนวน 15 ม้วน ความยาวม้วนละ 6 ชม. ซึ่งบันทึกภาพตั้งแต่หย่อนบัตรไปจนถึง กกต.ขานคะแนนเสร็จ โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ เปิดเผยว่าขณะนี้ยังตรวจสอบภาพกล้องวงจรปิดไม่ครบทั้งหมด แต่เท่าที่ดูพบว่า ในช่วงของการนับคะแนนมีการขานหมายเลขเซ็ตเดิม ลำดับเดิม ซ้ำๆ กันหลายครั้ง จึงได้แคปภาพนิ่งตัวอย่างบัตรลงคะแนนที่คล้ายกันมาเปิดให้กับผู้สื่อข่าวได้ชม
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยว่า ขณะนี้ดีเอสไอได้ใช้ระบบเอไอ เข้ามาจับพฤติกรรมของคนที่รวมตัวกันในวันนั้น ไม่ใช่เฉพาะบุคคลต้องสงสัยเท่านั้น สำหรับผู้ที่มาร้องทุกข์กล่าวโทษกับดีเอสไอ รวมทั้งพยานที่เป็นผู้สมัคร สว. วันนี้ได้พามานำชี้จุดที่เป็นการเลือกระดับประเทศ ซึ่งกล่าวหาว่าในการเลือกครั้งนี้ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม และมีการกล่าวหาในคดีอาญาด้วย ซึ่งเบื้องต้นดีเอสไอได้รับคดีพิเศษฐานฟอกเงิน และล่าสุดก็เพิ่งรับฐานความผิดอั้งยี่เป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากเป็นเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวพันกัน
ฉะนั้น การรวบรวมพยานหลักฐานก็จะเป็นรูปแบบภาพกว้างขึ้น รวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ อีกทั้งวันนี้พยานและผู้กล่าวหาได้นำชี้จุด เราก็จะได้มาดูว่าที่มีการกล่าวหาว่าพบโพยตรงส่วนไหน มีการรวมตัวกันตรงไหน ทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เราได้มา มันเกิดจากกล้องตัวไหน มันเห็นมุมไหนบ้าง เพื่อที่เราจะได้นำไปวิเคราะห์และจัดทำภาพถ่ายและแผนที่จำลองสถานการณ์
ดังนั้น เวลาเราเรียกพยานมาสอบปากคำ เราจะได้ชี้จุดถูกต้องว่าพยานรายนี้อยู่ตรงจุดไหนในวันเกิดเหตุ และเห็นเหตุการณ์อย่างไร เพื่อให้มันสอดคล้องกับพยานหลักฐานทั้งหมด รวมถึงพยานผู้เชี่ยวชาญที่วิเคราะห์ว่าการเลือก การลงคะแนนในลำดับซ้ำกัน เช่น ลำดับที่ 1 เบอร์นี้ ลำดับที่ 2 เบอร์นั้น ที่มันมีลักษณะซ้ำกัน มันจะเกิดขึ้นได้ด้วยเปอร์เซ็นต์เท่าไร
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยอีกว่า สำหรับเชิงเทคนิคของระบบ AI ตนจะยังไม่ขอลงรายละเอียดขนาดนั้น แต่เราจะใช้ AI เข้ามาวิเคราะห์ในเรื่องนี้ เพราะถ้าได้ภาพทุกคนที่เข้ามา ภาพคนที่ผ่านเข้ารอบทั้งหมด ใครอยู่ตรงไหน มีพฤติกรรมอย่างไร ทุกอย่างมันก็วิเคราะห์ได้หมด และนำไปสู่การพิจารณาว่ามันสอดคล้องกับข้อเท็จจริง พยานหลักฐานมากน้อยเพียงใด อย่างไรก็ตาม วันนี้ถือเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะอย่างน้อยเราได้มาดูจุดที่ผู้กล่าวหาได้นำชี้จุดว่าเข้ามาอย่างไร พื้นที่ตรงไหน หรือตรงไหนมีการรวมตัว ตรงห้องน้ำพบโพยอย่างไร เพื่อไปดูกับกล้องวงจรปิดเปรียบเทียบกัน เป็นต้น
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยต่อว่า เบื้องต้นจากการที่ สว. พาชี้จุดและจากไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดที่ดีเอสไอได้รวบรวมมานั้น จะมีความสอดคล้องหรือตรงกันแค่ไหน ก็คงต้องใช้การวิเคราะห์ก่อน เพราะวันนี้เพียงมาเก็บรวบรวมข้อเท็จจริงกลับไปเปรียบเทียบพิจารณาด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยวิเคราะห์ นอกจากนี้ ประเด็นเรื่องโพยในห้องน้ำที่มีการกล่าวอ้าง จะถือเป็นพยานหลักฐานชนิดหนึ่ง แต่เราไม่ได้พบโพยแค่ที่นี่ที่เดียว
ในส่วนของกรอบระยะเวลาสอบสวนคดีนั้น ในการดำเนินคดีอาญา เราต้องพิสูจน์ให้ชัดเจน ต้องมีหลักฐานตามสมควรว่ามีบุคคลใดบ้างที่ได้กระทำผิดอาญา ขณะที่ในส่วนของดีเอสไอที่ไปร่วมกับ กกต. ในชุดคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน ก็จะพิสูจน์ตามกฎหมายการเลือกตั้ง ตรงส่วนนี้เราทำร่วมกับ กกต. หากพยานหลักฐานฟังได้ความว่าการเลือกตั้งนั้นไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม ก็เป็นเรื่องของ กกต. ที่จะดำเนินการ แต่ถ้าคดีอาญาก็ต้องเป็นดีเอสไอรับผิดชอบ
พ.ต.ต.ยุทธนา เผยด้วยว่า ส่วนภาพนิ่งจากกล้องวงจรปิดที่ได้บันทึกมานั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ แต่เบื้องต้นพบว่ามีการโชว์บัตรคะแนน ซึ่งบัตรคะแนนนั้นก็จะสอดคล้องกับโพยที่ผู้กล่าวหาได้ระบุว่า มันตรงกับโพยที่พบในห้องน้ำ ซึ่งตรงนี้ต้องใช้สูตรการคำนวนและวิเคราะห์อีกครั้ง ยกตัวอย่าง มีการกาเบอร์ใดให้เป็นลำดับที่ 1 เบอร์ถัดไปเป็นเบอร์ลำดับที่ 2 จนครบ แต่ปรากฏว่ามันเป็นการกาเบอร์ในลักษณะซ้ำกันในหลายๆ บัตร ตรงนี้อาจต้องวิเคราะห์ว่ามันมีการกระทำจัดตั้งเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งที่จะตกลงกันให้ได้มาซึ่ง สว. โดยไม่สุจริตและเที่ยงธรรมหรือไม่
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวอีกว่า การที่เราใช้ระบบ AI เข้ามาช่วยวิเคราะห์ มันคือวิทยาศาสตร์ มันมีความหนักแน่นและน่าเชื่อถือ เมื่อมันไปสอดคล้องกับพยานบุคคล พยานเอกสาร และพยานวัตถุ หรือการโอนเงินต่างๆ มันจะฟังได้มีน้ำหนักมากขึ้นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าอะไรเกิดขึ้นบ้าง ส่วนจะทันกรอบเวลาเดือนหน้าของ กกต. หรือไม่นั้น ตนมองว่ามันเป็นคนละส่วนกัน ทาง กกต. จะไต่สวนยื่นหรือไม่ยื่น แล้วแต่ กกต. แต่ถ้าดีเอสไอ จะเป็นการทำคดีอาญาตามที่มีผู้กล่าวหา ตรงนี้ต้องใช้เวลาพอสมควร
เมื่อถามว่าการใช้ระบบ AI CCTV เข้ามาตรวจสอบวิเคราะห์ จะเน้นไปที่กลุ่ม 140 สว. ที่อยู่ในวันเกิดเหตุหรือไม่ ว่าอยู่จับกลุ่มหรือทำอะไรกัน พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวว่า เราจะดูภาพรวม เป็นการวิเคราะห์ในภาพรวม ส่วนใครจะมีพฤติกรรมอย่างไร แล้วไปสอดคล้องกับพยานบุคคล หรือพยานอื่นอย่างไร มันก็จะทำให้มีการเพิ่มหรือเสริมน้ำหนักขึ้น แต่ถ้ามันไม่ตรง ก็จะได้เป็นการหักล้าง ไม่ได้ไปเพิ่มน้ำหนักอะไร ทั้งนี้ เราพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยความโปร่งใส และตรงไปตรงมา จึงต้องใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย รวมไปถึงการนั่งรถบัสมาด้วยกัน การสวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน เราจะนำมาพิจารณาทั้งหมดแน่นอน
ส่วนหลักฐานการเข้าพักโรงแรมที่เดียวกัน หลักฐานตรงนี้เราได้รับจากส่วนอื่นแล้ว แต่แค่จะไม่ได้อยู่ในภาพการจำลองวันนี้ การที่การเลือกลงคะแนนหรือโพยปรากฏตัวเลขเรียงกัน ซ้ำกัน มันสามารถใช้วิเคราะห์ได้ตามหลักสถิติ เพราะผู้เชี่ยวชาญทางด้านคณิตศาสตร์จะระบุได้เลย สมมติมีการกาเลขลำดับที่ 1-7 แล้วอีกใบลงคะแนนก็กาเรียงลำดับเหมือนกัน และซ้ำๆ กัน นักคณิตศาสตร์วิเคราะห์ได้ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้นั้นมีกี่เปอร์เซ็น ผิดปกติอย่างไร ซึ่งถ้าหากลองเปิดหีบกล่องลงคะแนนออกมา เราก็เชื่อได้ว่ามันจะเป็นอย่างนั้น ที่อาจเจอบัตรลงคะแนนกาเรียงลำดับหมายเลขซ้ำๆ กัน ทั้งนี้ 20 กลุ่มอาชีพ คือ 20 หีบลงคะแนน ส่วน 1 หีบจะซ้ำกันกี่บัตรลงคะแนน จะต้องไปตรวจสอบดู เพราะมันอยู่ในกล้องวงจรปิดอยู่แล้ว
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวด้วยว่า กรณีที่มี สว.สำรอง ให้การอ้างว่าอาจมีเจ้าหน้าที่ กกต. บางท่านเพิกเฉยหรือสมรู้ร่วมคิดนั้น กระบวนการ AI จะช่วยวิเคราะห์ได้หรือไม่ ตนมองว่าต้องให้ระบบ AI ได้ลองวิเคราะห์ก่อน รวมถึงถ้ามีกลุ่มผู้สมัคร สว. มายืนเกาะรั้วคอยแลกคะแนนกัน อันนี้ก็ต้องไปตรวจสอบก่อน ว่ามันสอดคล้องกับพยานหลักฐานอื่นด้วยหรือไม่
สำหรับการรับเรื่องร้องทุกข์จาก สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี และ สภ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ซึ่งมีผู้กล่าวหาในความผิดฐานอั้งยี่ มาเพื่อดำเนินการสอบสวนรวมสำนวนในคดีพิเศษดังกล่าวแล้วนั้น ตามคำร้องทุกข์กล่าวโทษพบว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน มีการกล่าวหาว่าคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมตั้งเป็นคณะบุคคล เป็นสมาชิก และมีการประชุมกัน ปกปิดวิธีการเพื่อกระทำการบล็อกโหวตเลือกตั้ง ทำให้ตำรวจท้องที่ได้ส่งเรื่องให้เราพิจารณารับเป็นเรื่องคดีพิเศษต่อเนื่องเกี่ยวพัน ซึ่งมีแต่หมายเลขลำดับประจำตัวของผู้สมัคร ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามีรายชื่อของบุคคลที่เป็น สว. ปัจจุบันหรือไม่
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวต่อว่า กล้องวงจรปิดบริเวณจุดลงบัตรคะแนน ตามหลักแล้วจะมีการโชว์บัตรคะแนน ถ้าครบทุกใบ หรือเป็นส่วนใหญ่ มันก็พิสูจน์ข้อเท็จจริงได้เช่นเดียวกัน เพราะก่อนจะหย่อนบัตรลงหีบ มันต้องโชว์บัตรก่อน และกล้องวงจรปิดจะเห็นแน่นอน
ทั้งนี้ กรณีที่ทนายอั๋น บุรีรัมย์ ได้สอบถามว่า กรณีกรมการปกครองออกหนังสือทำนองคล้ายสกัดการลงพื้นที่หาข้อมูลของดีเอสไอและหน่วยงานต่างๆ เหมือนไม่ให้ความร่วมมือนั้น พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า ตนไม่กังวล แต่ขอไปตรวจสอบก่อน เพราะการที่เขาออกหนังสือเช่นนั้น จะมีผลต่อการสอบสวนอย่างไรบ้าง เพราะในชั้นสอบสวน ยังไม่เห็นว่าเป็นอุปสรรคในการสอบสวนแต่อย่างใด แต่จะพิจารณาดูอีกครั้ง
พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า การจะเปิดหีบเลือกตั้งหรือไม่นั้น ตามจริงแล้วกล้องวงจรปิดมีบันทึกไว้ได้ทุกใบอยู่แล้ว ฉะนั้น การจะเปิดหีบหรือไม่นั้นเป็นอำนาจของ กกต.
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้รับรายงานว่าไฟล์ภาพจากกล้องวงจรปิด ณ วันเลือก สว. ระดับประเทศ วันที่ 26 มิ.ย.67 ของ กกต. ที่ดีเอสไอได้รับนั้น มีขนาดไฟล์ 14 เทเลไบต์ โดยดีเอสไอจะได้นำไปใช้วิเคราะห์ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป