เปิดคำพิพากษา จำคุก 2 อดีตอัยการ เนตร นาคสุข – ชัยณรงค์ แสงทองอร่าม คดี บอส อยู่วิทยา

เปิดคำพิพากษา จำคุก 2 อดีตอัยการ เนตร นาคสุข – ชัยณรงค์ แสงทองอร่าม คดี บอส อยู่วิทยา ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1-3,5-7 แต่ให้หมายขังไว้ระหว่างอุทธรณ์

เมื่อวันที่ 22 เม.ย.68 ที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ศาลนัดอ่านคำพิพากษา คดีร่วมกันปฏิบัติหน้าที่มิชอบหมายเลขดำ อท 131/2567 ที่พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต 1 เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผบ.ตร. นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด กับพวกรวม 8 คนเป็นจำเลย ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157, 200, 83, 86 พรป.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 พรป. ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 172,192

กรณีที่พวกจำเลยทั้งหมด ร่วมกันกระทำผิดเปลี่ยนแปลงพยานหลักฐานในคดี คำให้การพยาน ความเร็วรถยนต์ เพื่อช่วยเหลือนายวรยุทธ หรือบอส อยู่วิทยา ผู้ต้องหา เพื่อให้พ้นผิด หรือรับโทษน้อยลง ที่นายวรยุทธขับรถสปอร์ตหรู เฉี่ยวชน ด.ต.วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจ สน.ทองหล่อ เสียชีวิตขณะขี่รถจักรยานยนต์ เมื่อช่วงเช้ามืดวันที่ 3 ก.ย.2555 โดยจำเลยทั้ง 8 คนให้การปฏิเสธ ต่อสู้คดีและได้รับการประกันตัวคนละ 2 แสนบาท

สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 8 ประกอบด้วย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีต ผบ.ตร. จำเลยที่ 1 พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข อดีต ผบก.กองพิสูจน์หลักฐาน จำเลยที่ 2 พ.ต.อ.วิรดล ทับทิมดี อดีตพนักงานสอบสวน (สบ 3) สน.ทองหล่อ จำเลยที่ 3 นายชัยณรงค์ แสงทองอร่าม อดีตอัยการอาวุโส จำเลยที่ 4

นายธนิต บัวเขียว จำเลยที่ 5 นายชูชัย หรือพิชัย เลิศพงศ์อดิศร จำเลยที่ 6 รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม นักฟิสิกส์ อาจารย์ประจำและหัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ ม.เทคโนโลยี พระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำเลยที่ 7 นายเนตร นาคสุข อดีตรอง อสส. จำเลยที่ 8

ต่อมาศาลออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษา โดยพิเคราะห์ว่า จำเลยที่ 4 กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ดำรงตำแหน่งอัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 โดยสำนักงานดังกล่าวนี้ไม่ได้รับผิดชอบคดีที่เกิดพื้นที่ สน.ทองหล่อ อันเป็นสถานที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 4 ไม่ได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาให้เป็นพนักงานอัยการผู้รับชอบสำนวนคดีนี้ และไม่ได้หน้าที่พิเศษตามที่ทางราชการมอบหมายในคดีนี้แต่อย่างใด

ทั้งจำเลยที่ 4 ไม่ได้เป็นตัวแทนโดยปริยาย ไม่ได้เป็นพยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ จำเลยที่ 4 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเข้าไปร่วมประชุม เพื่ออธิบายข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้แก่พนักงานสอบสวน หรือบุคคลอื่น แสดงถึงมูลเหตุจูงใจของจำเลยที่ 4 ที่จะเข้าไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด

จำเลยที่ 4 อ้างสถานะว่าตนเป็นอัยการ รู้จักกับบุคคลต่างๆ ทั้งฝ่ายตำรวจและพนักงานอัยการชั้นผู้ใหญ่ เพื่อให้ พ.ต.อ. เกิดความน่าเชื่อถือ เพื่อโน้มน้าวให้ พ.ต.อ. คล้อยตามความเห็นของตน แสดงให้เห็นถึงแรงจูงใจพิเศษที่ต้องการที่จะช่วยให้นายวรยุทธไม่ต้องรับโทษ

ยิ่งเมื่อพิเคราะห์ถึงถ้อยคำของจำเลยที่ 4 ที่ว่า “อยากให้ขอให้เป็น 79.22 ตามที่อาจารย์สายประสิทธิคำนวณ” “คือตามกฎหมายห้ามขับเกิน 80 อยากจะขอความกรุณาให้มันอยู่ range ตรงนั้น” “อันนี้ขอความกรุณาท่านผู้การ ทางอัยการเขาสั่งมาอย่างนี้ คือเขาก็มองว่าเขาจะช่วยนะ คือก็อยากให้เขาสบายใจนิดนึงใช่ไหมฮะ เวลาเขาจะสั่ง คือเขาสั่งมาเนี่ย เขาตั้งใจจะช่วยเต็มที่ แล้วก็อยากจะขอความกรุณานะฮะ เรียนตรง ๆ เลยฮะ” เป็นต้น

ข้อความในเบื้องต้น เป็นบ่งชี้ว่า จำเลยที่ 4 ประสงค์จะให้ความเร็วกำหนดเฉพาะเจาะจงต้องไม่เกิน 80 กม./ชม. เท่านั้น เพื่อจะให้อยู่ในขอบของกฎหมายกำหนด

การกระทำของจำเลยที่ 4 มีลักษณะการแทรกแซง โน้มน้าว กดดัน โดยใช้สถานะอิทธิพลของตนให้การคำนวณความเร็วของ พ.ต.อ. ไม่เป็นอิสระ เพื่อให้ พ.ต.อ. ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีเจตนาเพื่อในชั้นต่อไปให้พนักงานอัยการ ผู้รับผิดชอบคดีที่จะมีความเห็น หรือส่งคดีสำนวนของนาย ว. ที่ตกเป็นผู้ต้องหา นำผลการคำนวณความเร็วไปใช้ประกอบดุลยพินิจในทางเฉพาะที่เป็นคุณแก่นาย ว. เท่านั้น เพื่อประสงค์ต่อผลจะช่วยผู้ต้องหามิให้ต้องรับโทษ หรือให้รับโทษน้อยลง

การกระทำของจำเลยที่ 4 จึงเป็นความผิดตามฟ้อง เมื่อจำเลยที่ 4 กระทำผิดส่วนตัว ไม่ได้กระทำในอำนาจและหน้าที่ จึงเป็นเพียงฐานผู้สนับสนุนการกระทำผิด แม้การกระทำของจำเลยที่ 4 อันเป็นการช่วยเหลือผู้ที่กระทำผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด และผู้ที่กระทำผิดจะมิได้รู้ถึงการช่วยเหลือหรือไม่นั้นก็ตาม

ปัญหาสุดท้ายว่า การที่จำเลยที่ 8 ใช้อำนาจวินิจฉัยสั่งไม่ฟ้องนายวรยุทธเป็นไปโดยชอบหรือไม่ เห็นว่า คำสั่งไม่ฟ้อง ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย โดยมุ่งเน้นประเด็นเกี่ยวกับการคำนวณความเร็วของรถยนต์ และใช้ดุลพินิจรับฟัง ข้อเท็จจริงความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับขี่ที่ยึดความเร็วตาม พยาน 2 ปากที่เพิ่งปรากฏในการร้องขอความเป็นธรรมครั้งที่ 8 และครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 7 ต.ค.62 หลังเกิดเหตุเหตุการณ์กว่า 7 ปี

โดยพยาน 2 ปากระบุความเร็วของรถยนต์ที่พยานทั้ง 2 ขับและความเร็วของรถยนต์ที่นายวรยุทธขับได้อย่างชัดเจนว่า ขับมาด้วยความเร็วประมาณ 50-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ผิดวิสัยของบุคคลในเรื่องความทรงจำตามธรรมชาติ มีลักษณะที่จะช่วยเหลือหรือให้การเป็นประโยชน์กับผู้ต้องหา พยานทั้ง 2 ปากไม่น่าเชื่อถือและมีคุณค่าแก่การรับฟังในประเด็นนี้ จำเลยที่ 8 ควรชั่งน้ำหนักพยาน การที่จำเลยที่ 8 ให้เหตุผลว่าไม่มีข้อพิรุธสงสัยใดๆ แม้พยานทั้งสองเคยถูกสอบสวนไปแล้ว โดยอ้างว่าเป็นประเด็นสำคัญแก่คดีและมีน้ำหนักมาก ให้เป็นข้อสนับสนุนการหยิบยกพยานหลักฐานขึ้นอ้างประกอบการพิจารณา

ทั้งที่จำเลยที่ 8 เป็นพนักงานอัยการระดับสูง ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งรองอัยการสูงสุดอาวุโสระดับที่หนึ่ง ยังต้องมีประสบการณ์สั่งสมในการพิจารณาสั่งสำนวนคดีอาญาที่มีฐานความผิดและพฤติกรรมแห่งคดี ยุ่งยากสลับซับซ้อนไปจำนวนมาก ย่อมจะต้องมีมาตรฐานในการปฏิบัติงานที่สูงมากกว่าพนักงานอัยการทั่วไป และต้องใช้ความระมัดระวังรอบคอบในการพิจารณาสั่งสำนวน ซึ่งปรากฏแพร่หลายในสื่อสาธารณะชนทั่วประเทศและนอกประเทศ

ทั้งจำเลยที่ 8 ย่อมทราบอยู่แล้วว่าองค์ประกอบความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ความเร็วของรถยนต์ขณะเกิดการชนนั้น แม้อัตราจะต่ำมากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง หากผู้ขับขี่กระทำไม่ได้ใช้ความระมัดระวัง ทั้งที่นายวรยุทธสามารถใช้ความระมัดระวังเช่นนั้นได้ตามวิสัยและพฤติการณ์ แต่ไม่ได้ใช้ บุคคลนั้นก็มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทได้

แต่จำเลยที่ 8 เลือกหยิบยกพยานหลักฐานเฉพาะ เพื่อสนับสนุนการสั่งคดี โดยมุ่งเน้นความเร็วรถยนต์ของนายวรยุทธเป็นหลัก ให้ความสำคัญส่วนนี้ เพื่อให้ความประมาทเกิดขึ้นจากผู้ตายแต่เพียงฝ่ายเดียว เพื่อสนับสนุนความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา และความเชื่อว่านายวรยุทธไม่ได้กระทำโดยประมาท เป็นการใช้ดุลยพินิจช่างน้ำหนักพยานหลักฐานอยู่บนรากฐานความสมเหตุและผล

การที่จำเลยที่ 8 อ้างว่าการร้องขอความเป็นธรรมต้องพิจารณาใหม่เป็นครั้งๆ เพื่อให้ความเป็นธรรมไม่มีผลผูกพัน ให้จำเลยที่ 8 จำต้องถือและปฏิบัติความเห็นและโดยเฉพาะดังกล่าว เพราะไม่มีกฎหมายระเบียบกำหนดให้ต้องสืบและปฏิบัติตาม เพื่อให้มีการสั่งสอบสวนเพิ่มเติมใหม่หลายครั้งหลายประเด็นโดยไม่จำเป็น จนหาข้อยุติไม่ได้ ส่งเสริมให้สอบปากคำพยานคนเดิมซ้ำแล้ว ให้การกลับหรือเปลี่ยนแปลงคำให้การใหม่ โดยการอ้างข้อมูลใหม่หรือพยานหลักฐานใหม่ หรือความทรงจำใหม่ของพยาน
โดยพนักงานอัยการจะอ้างเหตุผลดังกล่าวนำมาประกอบดุลยพินิจ เพื่อมีคำสั่งอย่างใดๆ ก็ตามที่อยากให้เป็นในลักษณะสมคบคิดกันเป็นขั้นตอนกับผู้ที่ไม่สุจริต เพื่อให้เอื้อสมประโยชน์ในทิศทางที่จะสั่งคดีทางใดได้โดยง่าย ส่งผลกระทบกระเทือนต่อกระบวนการยุติธรรมโดยรวม

การสั่งคดีของจำเลยที่ 8 เป็นข้อบ่งชี้ว่าไม่อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงและหลักฐานที่มีเหตุผลอันสมควร มิได้ใช้เกณฑ์วินิจฉัยมูลความผิดอย่างที่พนักงานอัยการพึงใช้ เป็นการวินิจฉัยมูลความผิดโดยใช้ดุลยพินิจตามอำเภอใจและด่วนวินิจฉัยคดีเสียเอง

การกระทำของจำเลยที่ 8 จึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความจึงเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เป็นเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ

หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด และเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการ ผู้ว่าคดีพนักงานสอบสวน หรือเจ้าพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญา หรือจัดการให้เป็นไปตามหมายอาญากระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ ในตำแหน่งอันเป็นการไม่ชอบ เพื่อจะช่วยบุคคลหนึ่งคนใดมิให้ต้องรับโทษหรือให้รับโทษน้อยลง โดยมีจำเลยที่ 4 เป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย

พิพากษาว่า จำเลยที่ 4 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86
จำเลยที่ 8 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมาตรา 200 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172

การกระทำของจำเลยที่ 4,8 เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172 ซึ่งเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายมีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด

พิพากษาจำคุกจำเลยที่ 4 กำหนด 2 ปี จำคุกจำเลยที่ 8 กำหนด 3 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1-3,5-7 แต่ให้หมายขังจำเลยที่ 1-3,5-7 ไว้ระหว่างอุทธรณ์ เว้นแต่จะมีประกัน คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

Leave a Comment