7 วันอันตราย 3 วันดับแล้ว 100 ราย กทม.ผู้เสียชีวิตมากสุด

7 วันอันตราย 3 วันดับแล้ว สาเหตุหลักขับรถเร็ว-เมาขับ กทม.ผู้เสียชีวิตมากสุด 10 ราย ขณะที่ 30 จังหวัดไม่มีผู้เสียชีวิต ศปถ.เน้นย้ำเร่งกวดขันพฤติกรรมเสี่ยง

วันที่ 14 เม.ย.2568 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายขจร ศรีชวโนทัย รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เป็นประธานแถลงผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2568 ประจำวันที่ 13 เม.ย. ซึ่งเป็นวันที่สามของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่าย

รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 13 เม.ย.เกิดอุบัติเหตุ 296 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 299 คน ผู้เสียชีวิต 39 ราย สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

  • ขับรถเร็ว ร้อยละ 44.26
  • ดื่มแล้วขับ 29.05
  • ตัดหน้ากระชั้นชิด 17.91

7 วันอันตราย 3 วันดับแล้ว 100 ราย กทม.ผู้เสียชีวิตมากสุด

ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่

  • เวลา 18.01–21.00 น. ร้อยละ 20.61
  • เวลา 15.01-18.00 น. ร้อยละ 16.89
  • เวลา 12.01–15.00 น. ร้อยละ 16.55

ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี ร้อยละ 21.89 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,754 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 51,017 คน

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด

  • ภูเก็ต (15 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด

  • ลำปาง (19 คน)

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด

  • ได้แก่ ปทุมธานี สระแก้ว และเชียงราย (จังหวัดละ 3 ราย)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (11–13 เม.ย.) เกิดอุบัติเหตุรวม 756 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 752 คน ผู้เสียชีวิต รวม 100 ราย จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 30 จังหวัด

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด

  • พัทลุง (28 ครั้ง)

จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด

  • ลำปาง (31 คน)

จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด

  • กรุงเทพมหานคร (10 ราย)

นายขจร กล่าวว่า จากสถิติข้อมูลอุบัติเหตุในช่วง 3 วันที่ผ่านมา พบว่ายานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดคือรถจักรยานยนต์ และพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงที่สุด คือการไม่สวมหมวกนิรภัย รองลงมาคือการดื่มแล้วขับ ศปถ.ขอให้ทุกภาคส่วนเพิ่มความเข้มข้นในการกวดขัดพฤติกรรมเสี่ยงเหล่านี้

โดยใช้กลไกของพื้นที่ในการดำเนินการอย่างการตั้งด่านชุมชนและด่านครอบครัวในการเฝ้าระวัง ตรวจตรา ป้องปราม และตักเตือนบุคคลที่มีพฤติกรรมเสี่ยงให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้อง สวมใส่อุปกรณ์นิรภัย และมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน ก่อนขับขี่ยานพาหนะออกนอกชุมชน หากพบผู้กระทำผิดและไม่ปฏิบัติตามคำตักเตือน ขอให้ประสานมายังสถานีตำรวจภูธรใกล้เคียงเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

7 วันอันตราย 3 วันดับแล้ว 100 ราย กทม.ผู้เสียชีวิตมากสุด

นายขจร กล่าวต่อว่า ขอให้จังหวัดร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้ขับขี่ที่ทำพฤติกรรมเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุทางถนน 10 ข้อ (10 รสขม) ให้ความสำคัญกับการควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาตามที่กฎหมายกำหนด และการไม่จำหน่ายให้กับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี

โดยในกรณีที่เด็กและเยาวชนอายุที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี ดื่มแล้วขับจนทำให้เกิดอุบัติเหตุและมีผู้เสียชีวิต ให้มีการสืบสวนขยายผล เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่จำหน่ายหรือสนับสนุนให้เด็กดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเคร่งครัด

นอกจากนี้ ให้สำรวจจุดเสี่ยง จุดเกิดเหตุซ้ำซาก ทางร่วมทางแยก และจุดกลับรถ เพื่อปรับปรุงและแก้ไขเส้นทางให้มีความปลอดภัยกับผู้ใช้รถใช้ถนนมากยิ่งขึ้น ตลอดจนปรับปรุงเครื่องหมายและเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดจากสภาพแวดล้อมในการเดินทาง

ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยของทั้งเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการและประชาชนผู้รับบริการและเดินทางสัญจรไปมา ขอให้ตั้งจุดตรวจและจุดบริการประชาชนในบริเวณที่ปลอดภัย ไม่กีดขวางเส้นทางจราจร มีระยะห่างจากขอบเส้นทางที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงการตั้งในพื้นที่ที่ถนนเปียกหรือมีน้ำขัง และจะต้องมีเครื่องหมาย กรวย หรือป้ายแสดงตำแหน่งจุดบริการ เพื่อให้ประชาชนเห็นได้อย่างชัดเจน

ด้าน พล.ต.อ.ไกรบุญ ทรวดทรง รอง ผบ.ตร. ฐานะประธานการประชุมอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ.2568 กล่าวว่า เนื่องจากการสอบสวนสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น พบว่านอกเหนือไปจากดื่มแล้วขับแล้ว ส่วนหนึ่งอุบัติเหตุทางถนนยังเกิดจากการง่วงหลับในที่มาจากการทานยาบางชนิดที่มีฤทธิ์ง่วงซึม ขอให้จังหวัดประชาสัมพันธ์ข้อมูลการใช้ยาว่ามียาชนิดใดบ้างที่ทำให้เกิดอาการง่วงซึมและมีผลต่อการขับขี่

เช่น กลุ่มยาแก้แพ้ แก้คัน ลดน้ำมูก กลุ่มยาแก้ปวดอย่างแรง ยาคลายกล้ามเนื้อ ยกแก้ไอ ยากันชัก ยารักษาอาการปวดเส้นประสาท ยาต้านอาการท้องเสีย และหากประชาชนทานยาเหล่านี้ ไม่ควรขับรถโดยเด็ดขาด โดยขอให้ประชาสัมพันธ์ข้อมูลนี้ผ่านทุกช่องทางของจังหวัด ทั้งเสียงตามสาย ป้ายรณรงค์ และสื่อสังคมออนไลน์

นอกจากนี้ ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ณ จุดตรวจและจุดบริการประชาชน ตรวจเช็กการรับประทานยาของผู้ขับขี่ รวมถึงขอให้บุคลากรจัดการด้านความปลอดภัยในการขนส่ง (Transport Safety Manager: TSM) ตรวจสอบการรับประทานยาเหล่านี้ของผู้ขับขี่รถโดยสาธารณะ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุทางถนนและความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

นายสหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี พ.ศ.2568 กล่าวว่า 14 เม.ย.เป็นวันครอบครัว ประชาชนจึงมักเดินทางไปรดน้ำขอพรญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคล บางส่วนอาจเดินทางไปไหว้พระตามวัดต่างๆ เพื่อให้ทุกการเดินทางในวันนี้เป็นการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่มีความสูญเสีย สมาชิกครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าเพื่อเฉลิมฉลองวันครอบครัวอย่างมีความสุข

ขอฝากให้ประชาชนผู้ขับขี่ยานพาหนะขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ไม่ขับรถเร็ว ไม่ดื่มแล้วขับ หากต้องการเปลี่ยนเลน ขอให้ให้สัญญาณไฟเลี้ยวเพื่อให้สัญญาณกับยานพาหนะโดยรอบ รอจนได้ระยะที่ปลอดภัยแล้วจึงเปลี่ยนเลน ไม่ตัดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงสวมใส่อุปกรณ์นิรภัย ปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง

Leave a Comment