กมธ.ติดตามงบฯ ถกปม ตึกสตง.ถล่ม “ผู้ว่าการสตง.” ลั่น ลุยต่อสร้างตึกใหม่อีก ไม่สูงเท่าเดิม งบไม่ถึง 2 พันล้าน ยัน ไม่สร้างทับบริเวณที่ถล่ม
เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 เม.ย. 2568 ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ สภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน (ปชน.) เป็นประธาน วาระพิจารณาติดตามการบริหารงบประมาณ กรณีโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่ถล่มอันเกิดจากแผ่นดินไหว
โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ข้อมูล ดังนี้ 1.ผู้ว่าการ สตง. 2.อธิบดีกรมบัญชีกลาง 3.อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง 4.อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) 5.นายกสภาวิศวกร 6.นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และ 7.นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมถัมภ์
โดยนายสุทธิพงษ์ บุญนิธิ รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ในฐานะโฆษก สตง. กล่าวว่า อาคารของเราเป็นอาคารสูงพิเศษ เป็นไปตามความหมายของพ.ร.บ.ควบคุมอาคารปี 2522 ฉะนั้น จึงต้องมีการจ้างออกแบบ ซึ่งได้บริษัทฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยวงเงิน 73 ล้านบาท และได้ผู้ชนะการประกวดราคา ได้แก่ กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี (บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด)
มีการลงนามสัญญา 23 ก.ย.2563 และมีการแก้ไขสัญญา 9 ครั้ง งบประมาณในสัญญาอยู่ที่ 2,560 ล้านบาท ราคากลางขณะที่ประมูลอยู่ที่ 2,522 ล้านบาท แต่ราคาที่ประมูลได้อยู่ที่ 2,136 ล้านบาท แต่เมื่อมีการแก้ไขสัญญาและปรับเนื้องานปัจจุบันสัญญาอยู่ที่ 2,131 ล้านบาท มีระยะเวลาก่อสร้าง 3 ปี 36 งวดงาน
นายสุทธิพงษ์ กล่าวต่อว่า เริ่มสัญญาเมื่อส่งมอบพื้นที่ได้ คือ 1 ม.ค.2564 และต้องเสร็จตามสัญญาคือวันที่ 31 ธ.ค.2566 แต่ระหว่างนั้นมีการขอขยายระยะเวลา 2 ครั้ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดและการปรับแก้สัญญา ซึ่งมีการขยายไปจนถึงวันที่ 3 มิ.ย.2567 และเราได้มีการปรับแผนตามหนังสือวอ.1459 ต่อไปถึงวันที่ 14 มิ.ย. 2568 ค่าปรับเท่ากับศูนย์ตามหนังสือ วอ.3693 วันที่ 7 ส.ค. 2568
ทั้งนี้ สตง.ได้เช่าที่รถไฟในพื้นที่ 10 ไร่ เพราะเราต้องการใช้พื้นที่ในการทำงานของเจ้าหน้าที่จำนวน 2,400 คน ซึ่งในส่วนนี้รวมถึงอาคารจอดรถ 1 อาคาร อาคารอบรม 1 อาคาร เรามีหน่วยงานภายใน 50 หน่วยงาน ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องมีตึกสูง
อย่างไรก็ตาม ในระหว่างที่มีการออกแบบ เราได้ไปปรึกษาอัยการสูงสุดเรื่องกฎเกณฑ์ต่างๆ 2-3 ครั้ง จนกระทั่งได้บริษัทที่ชนะออกมา และเราก็ได้ผู้รับจ้างคือบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ที่ถูกมอบให้เป็นผู้เซ็นสัญญา ซึ่งเราได้ถามบริษัทอิตาเลียนไทยฯ ว่า สามารถลดจากราคากลาง 300 กว่าล้านได้หรือไม่
คำตอบที่ได้ คือ เขามีทุนและมีเครื่องมือ เราจึงมีการปรับเงินจาก 2,522 ล้านบาทนั้น มาอยู่ในวงเงินที่เขาเสนอคือ 2,136 ล้านบาท แต่ต้องได้ตึกตามที่เราประกวดราคา และมีการจ่ายเงินไปแล้ว 22 งวด หรือเป็นวงเงิน 966 ล้านบาท รวมเงินที่ต้องจ่ายล่วงหน้า
นอกจากนี้ ด้วยจำนวนเงินดังกล่าวเป็นเงินจำนวนมากที่สุดเท่าที่ สตง. ได้ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามปัญหาการทุจริต โครงการข้อตกลงคุณธรรม กับกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์อีซี ซึ่งอยู่ในช่วงการบริหารสัญญา เรายินดีที่จะนำเงินเป็นค่าธรรมเนียมให้กับผู้ที่จะเข้ามาเป็นคณะกรรมการข้อตกลงคุณธรรมปีละ 2 แสน เป็นเวลา 3 ปี รวม 6 แสนด้วยเงินของ สตง.
“เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2567 เขาควรได้งาน 86.77 เปอร์เซ็นต์ หากทำอย่างถูกต้อง แต่เขากลับมีงานแค่ 33 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2568 คณะกรรมการตรวจรับพัสดุจึงมีมติขอให้บอกเลิกสัญญา และอยู่ระหว่างการเสนอผู้มีอำนาจดำเนินการ แต่ปรากฏว่าผู้มีอำนาจหมดวาระ ต้องรอชุดใหม่เข้ามา เรื่องจึงอยู่ตรงนั้น” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
นายสุทธิพงษ์ กล่าวด้วยว่า ซึ่งภายหลังจากเกิดเหตุการณ์ตึกถล่มทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น และทราบว่าเกิดขึ้นเพราะอะไร เราก็จะสามารถชี้ผู้ที่รับผิดได้ ซึ่งการที่ สตง.ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงนั้น ก็เพราะหากมีการตั้งคณะกรรมการฯ เรื่องก็จะยุติ เนื่องจากสิ่งที่เราทำอยู่เรามีเอกสาร อย่างละเอียดทุกประการ ฉะนั้น จึงขอให้หน่วยงานที่ถูกตั้งเป็นคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบนั้น ช่วยบอกหน่อยว่าตึกถล่มเพราะอะไร
ทั้งนี้ เราไม่ได้นิ่งเฉย เราได้เข้าไปบริเวณตึกถล่มทุกวัน รวมถึงเมื่อร่างผู้เสียชีวิตไปถึงจังหวัดไหน สตง.จังหวัดนั้นต้องเข้าไปเป็นเจ้าภาพ ย้ำว่าหากสตง.ตั้งคณะกรรมการสอบ สตง.ก็จะไม่ผิด ฉะนั้น จึงต้องให้คนนอกตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าใครที่ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
“อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องงานก่อสร้างเราต้องเดินหน้าต่อ แต่จะทำตึกสูงเหมือนเดิมไม่ได้ และเราได้เช่าที่รถไฟบริเวณด้านหน้าเพิ่มอีก 4 ไร่ เราจึงจำเป็นที่จะต้องแก้แบบให้เป็นแบบแนวราบ กว้าง 50 ตารางวา ยาว 100 ตารางวา เอาทุกอย่างให้ไม่ต้องทันสมัย แอร์ก็ติดผนังธรรมดาเวลาเสียจะได้ไม่ต้องซ่อมยาก แล้วค่อยใส่ความทันสมัยในเทคโนโลยีเวลาทำงาน งบประมาณในการก่อสร้างคงจะไม่ถึง 2,000 ล้านบาท และจะไม่สร้างทับบริเวณที่ตึกถล่ม จะขยับมาข้างหน้า รวมถึงจะใช้งบประมาณที่เหลือในการก่อสร้างต่อ” นายสุทธิพงษ์ กล่าว
ส่วนเรื่องเหล็กที่มีปัญหานั้น ตัวแทน สตง. กล่าวว่า เรากำหนดมาตรฐานของเหล็กไว้ คือ ต้องได้ มอก.หรือเหล็กตัวที ที่ปรากฏไว้ในมอก. เรารู้แค่นี้ เราไม่ใช่วิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เราเป็นนักกฎหมาย เราเป็นสตง.ที่ดูตามเอกสารว่าต้องมีการพิจารณาอย่างไร และมีการยืนยันว่าเหล็กตัวทีสามารถใช้ได้
แต่มีข้อสังเกตสองอย่าง คือ เมื่อเป็นเหล็กตัวที เขาไม่อยากให้เชื่อมให้ใช้ข้อต่อเชิงกล และมีการทดสอบดัดโครงแล้ว เช่นเดียวกับเรื่องของคอนกรีตที่มีการกำหนดมาตรฐานไว้ และมีการทดสอบทางโครงสร้าง ปรากฏว่าค่าอยู่ที่ 400 กว่า มากกว่ามาตรฐาน
ด้านนายสุทธิพงษ์ กล่าวเสริมว่า หากอยากตรวจสอบเรื่องเกี่ยวกับปูน ก็สามารถตรวจสอบได้ไม่ยากเพราะเรามีบริษัทที่ทำเกี่ยวกับปูนแค่สองบริษัท การจะบอกว่าตึกเราเพิ่งเซ็ตตัวนั้น ไม่ใช่ เพราะตึกตั้งสง่ามา 4 ปีแล้ว