เปิดผลตรวจเหล็ก 2 ตัวที่ไม่ได้มาตรฐาน หลังเก็บจากตึก สตง.ที่ถล่ม ส่งผลกระทบให้ค่าอื่นคลาดเคลื่อน
วันที่ 31 มี.ค.68 น.ส ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานและหัวหน้าชุดสุดซอย เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบตัวอย่างเหล็กของอาคาร สตง.ที่ถล่ม พบว่า มีตัวอย่างเหล็ก 2 ตัวอย่าง ไม่ได้ค่าตามมาตรฐาน ขนาดเหล็กชิ้นที่หนึ่งคือ เหล็กข้ออ้อย ขนาด 32 มม. ซึ่งเราเก็บตัวอย่างมาจำนวน 3 บริษัท พบมีเหล็ก 1 บริษัท ที่มีค่าไม่ตรงไปตามเกณฑ์มาตรฐานและค่าที่ไม่ตรงตามเกณฑ์ คือค่ากำลังรับแรง และตัวอย่างที่ 2 คือเหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. มีค่ามวลต่อเมตร น้อยกว่าค่ามาตรฐานหรือที่รู้จักกันในชื่อ เหล็กมวลเบา
ซึ่งทั้งสองตัวอย่างเป็นบริษัทเดียวกันและเป็นบริษัทที่ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เคยตรวจคุณภาพเหล็กและไม่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ จึงได้มีคำสั่งให้ปิดโรงงานการผลิตไปเมื่อช่วงธันวาคมที่ผ่านมา
ทั้งนี้คาดว่าเหล็กล็อตดังกล่าวของโรงงานแห่งนี้ถูกนำมาสร้างอาคาร สตง. ก่อนที่สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะตรวจคุณภาพเหล็กและสั่งปิดในเวลาต่อมา แต่การตรวจตัวอย่างเหล็กในวันนี้เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น ยังไม่เพียงพอที่จะจะบอกได้ว่า เหล็กดังกล่าวเป็นสาเหตุทำให้อาคารทรุดตัวลงมาหรือไม่ ดังนั้นหลังจากนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมจะไปเก็บตัวอย่างเพิ่มเติมในจุดเกิดเหตุ
ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับหน้างานว่าเจ้าหน้าที่ของ สตง.จะให้เข้าพื้นที่หรือไม่ ประกอบกับช่วงนี้มีการค้นหาผู้ประสบภัยก็อาจจะต้อง ดูความเห็นของทาง ปภ. อีกด้วย
แต่ทั้งนี้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะหลังจากนี้ เราจะเข้าไปตรวจสอบโรงงานดังกล่าวอีกครั้ง ว่ามีการละเมิดคำสั่งลักลอบผลิตเหล็กหรือไม่ หรือลักลอบขนย้ายเหล็กออกจากพื้นที่หรือไม่ หากมีการละเมิดคำสั่ง ก็จะมีมาตรการขั้นเด็ดขาด ส่วนคดีเก่าที่มีการสั่งปิดโรงงานไปเมื่อเดือนธันวาคม ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการที่มีอัยการเป็นผู้ร่วมด้วย
ด้าน รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้ให้ความรู้เพิ่มเติมว่า สำหรับเหล็กตัวอย่างที่มีปัญหาทั้ง 2 ตัวอย่าง คือเหล็กข้ออ้อยที่มีขนาด 32 มม. และ 20 มม. ซึ่งเหล็กทั้งสองสามารถนำมาเป็นโครงสร้างหลักได้ทั้งคู่ โดยเฉพาะเหล็กข้ออ้อยขนาด 32 มม. มักใช้ในการประกอบฐานเสาอาคารเพื่อทำการหล่อปูน
แต่เมื่อทำการตรวจสอบความคราก (Yield Strength) หรือค่ากำลังรับแรง ไม่ตรงไปตามเกณฑ์มาตรฐาน เมื่อนำไปคำนวณเพื่อทำการก่อสร้าง ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยง ในโครงสร้างของตัวอาคารได้ ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเหล็กเส้นนี้สามารถรับแรงได้ประมาณ 50 กก. แต่พอรับน้ำหนักจริง ต้องรับน้ำหนักมากถึง 60 กก. ก็อาจจะทำให้เหล็กเส้นนี้วิบัติได้ เมื่อเหล็กรับแรงไม่ไหว แน่นอนว่าโครงสร้างต่างๆ ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นเดียวกัน
ส่วนในกรณีของ เหล็กข้ออ้อยขนาด 20 มม. ก็เป็นเหล็กที่มักจะมาใช้ทำฐานหรือเสาเล็กๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ซึ่งตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบพบว่า น้ำหนักไม่ได้ตามมาตรฐาน เมื่อน้ำหนักเหล็กไม่ได้มาตรฐานก็จะสัมพันธ์กับขนาดเหล็ก และหน้าตัดของเหล็กที่จะมีขนาดเล็กลง เมื่อนำเหล็กที่มีหน้าตัดไม่ได้ตรงตามมาตรฐานไปคำนวณเพื่อสร้างต้นเสา จะส่งผลให้ค่าอื่นๆ คลาดเคลื่อน และมีความเสี่ยงกับตัวอาคารเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น นำเหล็กขนาด 20 มม. จำนวน 20 แท่ง สร้างต้นเสา 1 ต้น โดยใช้ปูนจำนวน…./หิน…./ทราย…/น้ำ…./ แต่ในความเป็นจริง เหล็กข้ออ้อยที่นำมาใช้ มีขนาดหน้าตักเพียง 18 มม. นั่นหมายความว่า การคำนวณส่วนประกอบอื่นๆ จะคลาดเคลื่อนไปด้วยส่งผลต่อความแข็งแรงทนทานของเสาต้นนั้นๆ
อย่างไรก็ตามโครงสร้างเหล็ก เป็นส่วนสำคัญในการก่อสร้างฐานรากของตัวอาคาร แต่ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่อาจจะทำให้อาคารทรุดตัวหรือถล่มลงมา ซึ่งนอกจากเหล็กแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ ในเรื่องของการวางแผน แบบการก่อสร้าง รวมไปถึงปูน และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ดังนั้นการจะเก็บตัวอย่างปูนมาตรวจก็เป็นเรื่องที่สำคัญเช่นเดียวกัน แต่เชื่อว่าหลังจากนี้ ทาง สมอ. อาจจะเก็บตัวอย่างอื่นๆ มาตรวจเพิ่มเติมอีก
ด้าน นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเก็บตัวอย่างของเหล็กจากอาคาร สตง. ค่อนข้างมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของการกู้ภัยที่ต้องช่วยเหลือผู้ประสบภัย และการขอเข้าพื้นที่ จึงต้องบอกว่ากว่าจะได้ตัวอย่างเหล็กชุดนี้มาใช้เวลาในการเจรจากับ สตง.ค่อนข้างนาน ทำให้เรายังไม่อยากชี้ชัดว่า เหล็กจากบริษัทใดที่มีปัญหา เพราะเกรงว่าจะมีความยากลำบากในการทำงานหลังจากนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงอุตสาหกรรม จะทำงานอย่างเต็มที่ เพื่อพิสูจน์ข้อสงสัยและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น