เผยผลตรวจสอบเหล็ก อาคาร สตง.ถล่ม พบตัวอย่างเหล็ก 2 ขนาดไม่ได้มาตรฐาน

เผยผลตรวจสอบเหล็ก อาคาร สตง.ถล่ม พบตัวอย่างเหล็ก 2 ขนาดไม่ได้มาตรฐาน ผลิตมาจากบริษัทเดียวกันกับที่โดนปิดโรงงานไปแล้ว

เมื่อเวลา 19.15 น. วันที่ 31 มี.ค.68 ที่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ภายหลังจากการตรวจสอบตัวอย่างเหล็ก ที่ได้มาจากอาคาร สตง.ที่พังถล่ม นานกว่า 6 ชั่วโมง นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานและหัวหน้าชุดสุดซอย, รศ.ดร.กิจพัฒน์ ภู่วรวรรณ กรรมการโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และ นายวิโรจน์ โรจน์วัฒนาชัย ผู้อำนวยการสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ได้แถลงผลการตรวจสอบพบว่า จากเหล็กที่นำมาตรวจสอบ 7 ตัวอย่าง จำนวน 28 ชิ้น และมี 2 ตัวอย่างที่เป็นเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับเหล็กที่มีการนำมาตรวจสอบ มีจำนวน 28 เส้น 7 ประเภท ซึ่งมาจาก 3 บริษัท ประกอบด้วย
-เหล็กเส้นกลม 9 มิลลิเมตร 2 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 12 มิลลิเมตร 3 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 16 มิลลิเมตร 3 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 20 มิลลิเมตร 6 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 25 มิลลิเมตร 2 เส้น
-เหล็กข้ออ้อย 32 มิลลิเมตร 7 เส้น
-ลวดสลิง 15.2 มิลลิเมตร 5 เส้น

นายเอกนิติ กล่าวว่า ตลอดกว่า 3-4 ชั่วโมงที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทำทุกอย่างอย่างโปร่งใสที่สุด ตัวอย่างที่นำมาตรวจสอบเป็นการนำมาเบื้องต้นเท่านั้น จากนี้จะมีการเก็บมาตรวจสอบเพิ่มเติมอีก ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ เป็นการตรวจสอบเบื้องต้นเพื่อให้รู้ว่าคุณภาพของเหล็กเป็นอย่างไร และตอนเก็บตัวอย่างไม่ได้สนใจว่าจะเป็นเหล็กของแบรนด์ไหนเพราะไม่อยากให้เกิดการอคติ

จากนั้น นายนนทิชัย สรุปผลการทดสอบ ระบุว่า พบว่ามีทั้งเป็นไปตามมาตรฐานและไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ส่วนรายละเอียดเป็นเหล็กประเภทใดและไซต์ไหนนั้น ยังไม่ขอลงลึกในรายละเอียด เพราะอาจส่งผลให้หน้างานมีการเปลี่ยนแปลงสภาพในบางเรื่อง ยิ่งเราให้รายละเอียดมากเท่าไหร่ในตอนนี้ สภาพอาจเปลี่ยนไปแบบคาดไม่ถึงได้ ขอสงวนตรงนี้ไว้เพื่อให้ผลการพิสูจน์สะท้อนข้อเท็จจริง โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพใดที่หน้างาน

ขณะที่ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม เสริมว่า ให้ลองคิดดูว่า สมมติหากบอกไปว่าขนาดเบอร์ 8 แล้วจะเกิดอะไรขึ้น อาจทำให้การสืบค้นผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นประเด็นข้อกังวลของเจ้าหน้าที่

เมื่อถามว่าสัดส่วนใดมากกว่ากันระหว่างได้มาตรฐานกับไม่ได้มาตรฐาน นายนนทิชัย กล่าวว่า ที่เป็นไปตามมาตรฐานมีจำนวนมาก ซึ่งมีอัตราส่วนมากกว่าเยอะ

เมื่อถามย้ำว่าจากที่ทดสอบ 28 เส้น ได้มาตรฐานหรือไม่ได้มาตรฐานกี่เส้น หรือกี่เปอร์เซ็นต์ ประเด็นนี้ฝั่ง สมอ. ไม่อยากลงรายละเอียด ทำให้นายเอกนิติ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมบอกกับสื่อว่า 2-3 ชิ้น จากเหล็ก 28 เส้น

ช่วงหนึ่งนักข่าวยังคงพยามสอบถามย้ำว่าที่ตกมาตรฐานมีประเภทใดบ้าง ทำให้ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรมปรึกษาคณะฯ ต่อหน้าสื่อเลยว่า เอ่ยชื่อประเภทที่ตกมาตรฐานได้หรือไม่ ก่อนที่ท้ายที่สุด นายเอกนิติ จะเผยว่า ที่เราเจอตกมาตรฐานคือมวลต่อเมตร ตามหลักวิชาการ เรียกว่าเหล็ก ก่อนฝั่ง วสท. จะขยายความเพิ่มว่า หมายถึงว่า ปกติแล้วจะมีการระบุไว้ว่าน้ำหนักควรหนักเท่าไหร่ต่อ 1 เมตร แต่ปรากฏว่าเหล็กที่ต่ำกว่ามาตรฐานจากการตรวจสอบครั้งนี้มันหายไป ส่วนอีกคุณสมบัติที่ทำให้ตกมาตรฐานคือ คุณสมบัติของวัสดุ โดยมีค่า 3 ค่าที่เราสนใจ คือ ความเค้นและจุดคราก ความเค้นสูงสุดหรือความต้านทานแรงดึงสูงสุด และการบ่งชี้ความยืดตัวของวัสดุ

เมื่อถามอีกว่าสำหรับเหล็กที่ไม่ได้มาตรฐาน องค์ประกอบทางเคมีเป็นอย่างไรบ้าง นายเอกนิติ ยืนยันว่า ตัวอย่างที่พบโอเคหมด ในส่วนของโบรอนก็โอเค

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า เข้าใจว่าตัวอย่างที่เก็บมาอาจมีหลายบริษัท แต่อยากทราบว่าเส้นที่มีปัญหา เป็นของบริษัทที่เป็นประเด็นที่ถูกปิดไปแล้วหรือไม่ นายนนทิชัย บอกว่า ไซต์ 32 มิลลิเมตร มีอยู่ 1 ตัวอย่างที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานความต้านแรงดึงที่จุดคราก ส่วนไซต์อื่นๆ คือไซต์ 20 มิลลิเมตร ที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานรายการมวลต่อเมตร

เมื่อถามย้ำอีกว่า ใช่บริษัทเดียวกันกับที่ถูกปิดไปก่อนหน้าหรือไม่ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม บอกว่า ขออนุญาตยังไม่พูดบริษัทดีกว่า เมื่อถามว่าไซต์ 20 กับ 32 ที่มีปัญหาเจ้าเดียวกันหรือไม่ นายเอกนิติ ยังย้ำว่า ยังไม่อยากลงลึก ขอให้รอตอนที่มีกรรมการมาตรวจสอบ

ขณะที่ นายณัฐพล สุทธิธรรม กรรมการกลางวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) อธิบายเพิ่มว่า หากใช้เหล็กไม่ได้มาตรฐาน จะเกิดอะไรขึ้น โดยระบุว่า มันจะมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าอาคารจะพัง แต่ที่สำคัญที่ออกจากเรียนคือตัวอย่างที่เรานำมาครั้งนี้ ไม่ได้เป็นตัวแทนของทั้งหมด เราหยิบมาแค่บางส่วน ซึ่งขอเรียนว่าเรื่องจำนวนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก การได้มาของจำนวนตัวอย่างที่เยอะทำให้เรามั่นใจในผลการทดสอบมากขึ้นด้วย

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า แสดงว่าการเก็บตัวอย่างทั้งหมดนี้ยังไม่สามารถฟันธงได้ว่าวัสดุที่มีการก่อสร้างที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นเหตุให้อาคารถล่มใช่หรือไม่ นายเอกนิติ กล่าวว่า อย่างที่เรียนไปแต่แรก ตอนนี้มีคนเจ็บอยู่ในนั้น หากเราไปเก็บตัวอย่าง แล้วคนจะเป็นยังไง ดังนั้นเรามีข้อจำกัดตรงนี้ ซึ่งเรามองว่าความปลอดภัยของประชาชนที่ติดอยู่ในนั้นสำคัญที่ 1 เป็นเหตุให้เราไม่สามารถไปเก็บตัวอย่างได้ทั้งหมด ยืนยันว่าจากนี้ต้องไปเก็บตัวอย่างตรวจเพิ่มอยู่แล้ว

ทางด้าน น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวว่า การทดสอบครั้งนี้สื่อมวลชนก็เห็นตลอดการทำงานว่าเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ซึ่งการเข้าหน้างานไปเก็บหลักฐานมีข้อจำกัด และใช้เวลาหลายชั่วโมงกว่าจะเจรจาต่อรองเพื่อเข้าไปเก็บหลักฐานได้ และขอนำเรียนว่า เหล็กที่เกิดเหตุของอาคาร สตง. มาก่อนที่ นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม จะเป็นรัฐมนตรี ซึ่งสร้างมากว่า 5 ปีแล้ว อีกทั้งเมื่อช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเราดำเนินคดีกับทุกโรงงานที่มีการผลิตงานแบบไม่ได้มาตรฐานตลอดเช่นกัน

Leave a Comment