ก.อุตสาหกรรม เผยเหล็กสร้างตึก สตง. ของ ซินเคอหยวน โรงงานถูกสั่งปิดตั้งแต่ปีที่แล้ว หลังพบเหล็กไม่ได้มาตรฐาน กำลังดำเนินคดี
จากเหตุการณ์อาคารที่กำลังก่อสร้างของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เกิดถล่ม หลังแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยเมื่อวานนี้(30 มี.ค.) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม นำเจ้าหน้าที่สภาวิศวกรรม และเจ้าหน้าที่ มอก. ลงพื้นที่ตรวจสอบที่เกิดเหตุ และเข้าไปเก็บตัวอย่างเหล็กในอาคารที่ถล่มมาตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่
วันที่ 31 มี.ค. 2568 น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ คณะทำงาน รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า วันนี้เรามาตรวจเหล็กที่เกิดเหตุจากตึกถล่ม พบว่ามีทั้งหมด 3 แบรนด์ด้วยกัน ได้แก่ แบรนด์ A (ซิน เคอ หยวน) จะมีหลายไซส์ตั้งแต่ 32, 25, 20, 12 และ 16 ส่วนของแบรนด์ B และ C จะพบแค่เหล็กไซส์ 32 แต่เนื่องจากเมื่อวานเราเข้าไปเพียงแค่ตรงด้านหน้าของตึกที่ถล่มและให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานช่วยตัดเหล็กบริเวณตรงที่ถล่มมาให้เป็นตัวอย่าง
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า จริงๆ แล้วอาจจะพบเหล็กชนิดอื่นๆ จากแบรนด์อื่นอีกหลายแบรนด์เพิ่มเติมก็ได้ เพราะวันนี้ทาง สมอ. และกรมโยธาธิการผังเมืองเข้าไปตรวจสอบโครงสร้างด้านในอีก และจะเก็บเหล็กตัวอย่างมาเพิ่ม เพื่อจะนำมาตรวจสอบ สำหรับเหล็กของแบรนด์ A จะมีจำนวนเยอะกว่าแบรนด์อื่นหน่อย มีหลายไซส์
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวอีกว่า ตั้งแต่ท่านรัฐมนตรี นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เข้ามาดำรงตำแหน่ง เมื่อช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา ท่านมีนโยบายในการกวาดล้างเหล็กเบาและเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มีชุดตรวจการสุดซอย โดยมีตนเป็นหัวหน้าคณะทำงาน ไปปูพรหมตรวจโรงงาน
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า ส่วนใหญ่พบว่าเป็นโรงงานที่มีการร่วมทุนหรือเป็นโรงงานต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและมีเบาะแสว่าผลิตเหล็กที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน เราจึงมีการตรวจสอบปูพรมมาตลอดในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมา ดำเนินคดีไปทั้งหมด 7 โรงงาน ยึดของกลางมาได้ 300 กว่าล้านบาท
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวอีกว่า ตามนโยบายนอกจากที่จะช่วยรักษาอุตสาหกรรมไทยและผู้ประกอบการเหล็กไทยแล้ว ยังช่วยเซฟชีวิตพี่น้องประชาชนด้วย เนื่องจากว่าเหล็กข้ออ้อยเหล็กเส้นถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการนำไปสร้าง สะพาน ถนนอาคาร ที่พักอาศัยให้กับพี่น้องประชาชน ฉะนั้นจึงมีการระดมตรวจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า อย่างบริษัท A ตามที่ปรากฏ ถูกปิดไปตั้งแต่เดือน ธ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจากเกิดเหตุถังแก๊สระเบิดในโรงงาน ทางชุดตรวจการสุดซอยได้ลงพื้นที่ไปตรวจสอบโรงงาน ทั้งเรื่องของสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย และได้เก็บตัวอย่างเหล็กในโรงงานมาตรวจด้วย
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวอีกว่า ปรากฏว่าเหล็กที่ปรากฏในโรงงานไม่เป็นไปตามมาตรฐาน ซึ่งทางโรงงานก็มีการขอชาเลนจ์ ขออุทธรณ์ในการตรวจสอบรอบสอง แต่ยังไม่ผ่านมาตรฐานอีก ตอนนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินคดีและโรงงานก็ยังไม่ได้เปิดจนถึงปัจจุบัน
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเหล็กที่เราพบที่ตึก สตง. ตึกนี้มีอายุ 5 ปีแล้ว ท่านรัฐมนตรีเพิ่งมาเป็นรัฐมนตรีได้ 7 เดือนที่ผ่านมา และไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องของโรงงานเหล็กที่เป็นทุนข้ามชาติหรือว่ามีพฤติกรรมทุ่มตลาด
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวอีกว่า เมื่อวานเหล็กที่เก็บได้ส่วนใหญ่จะเก็บจากทั้งเสา เพราะเหล็กเส้นเป็นส่วนประกอบสำคัญทั้งคาน พื้นเก็บจากหน้างานทั้งหมด โดยไม่ได้ตั้งสมมติฐานว่าเป็นเหล็กของแบรนด์ใด เก็บหลายหลายไซส์คละไซส์ ตามแบบ BOQ ที่เราได้มา พอมาตรวจภายหลังตอนที่กำลังจะซีลเหล็กเพื่อที่จะนำออกมา ถึงจะพบว่าเป็นเหล็กของแบรนด์อะไร ทั้งนี้ ตัวเหล็กแบรนด์ A จะกระจายอยู่ในส่วนของเสาด้วย
น.ส.ฐิติภัสร์ กล่าวต่อว่า ส่วนเรื่องของสลิงเป็นสลิงที่ใช้ดึง ไม่ได้ระบุแบรนด์ ทางเราเข้าไปเก็บมาแบบไม่ตั้งข้อสันนิษฐานใด เก็บทุกตัวอย่างที่พบมาตรวจสอบว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและให้ความสบายใจกับพี่น้องประชาชน ตามนโยบายท่านรัฐมนตรีที่ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์อะไร ถ้าหากไม่เป็นไปตามมาตรฐานก็จะดำเนินคดีอย่างถึงที่สุดทุกคดีและทุกโรงงาน