ระงับใช้อาคาร 4 หน่วยงานของรัฐ หลังตรวจสอบแล้วแตกร้าวอันตราย รอวิศวกรผู้ชำนาญการเฉพาะด้านตรวจสอบซ่อมแซมให้แข็งแรงก่อนเปิดใช้
เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2568 นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยความคืบหน้าการตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว ขณะนี้มีการระงับใช้อาคารของหน่วยงานราชการแล้ว 4 แห่ง หลังตรวจสอบพบว่ามีความอันตราย
นายพงษ์นรา เย็นยิ่ง อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวถึงการตรวจสอบ ความเสียหายของอาคารแต่ละแห่งทั่วประเทศ หลังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ว่าเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการแบ่งกลุ่มอาคารออกเป็น อาคารสาธารณะ อาคารส่วนบุคคล และอาคารราชการ เช่น โรงพยาบาล อาคารที่ทำงานของรัฐ และโรงเรียนต่าง ๆ ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมืองร่วมกับ สภาวิศวกร สมาคมผู้ตรวจสอบอาคาร วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย พร้อมวิศวกรอาสาจากภาคเอกชน รวมกว่า 100 คน
โดยหลังจากตรวจสอบได้ 3 วัน สามารถตรวจสอบอาคารราชการได้ 80 หน่วยงาน รวมกว่า 200 อาคาร พบอาคารที่มีปัญหา 4 หน่วยงาน ได้แก่
- อาคารทศมินทราธิราช โรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งมีรอยแตกร้าวถึงเหล็ก
- อาคารโรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งพบปัญหาบริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคารสองแห่ง
- อาคารกรมสรรพากร ซึ่งพบรอยแตกร้าวที่มีความอันตราย
- อาคารสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เมืองทองธานี
โดยได้มีคำสั่งให้ระงับการเข้าใช้งานอาคารทั้งหมดแล้ว เพื่อให้วิศวกรผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน เข้าตรวจสอบ และซ่อมแซมอาคารให้มีความแข็งแรง ก่อนจะอนุญาตให้กลับเข้าใช้อาคารอีกครั้ง
ส่วนอาคารเอกชน เช่น คอนโดมิเนียม โรงแรม ห้างสรรพสินค้า หอพัก เป็นกลุ่มอาคารที่กฎหมายกำหนดให้มีการตรวจสอบทุกปีอยู่แล้ว และเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวก็ได้มีคำสั่งเพื่อให้ กรุงเทพมหานครออกคำสั่งกับเจ้าของอาคารดำเนินการตรวจสอบอาคารซ้ำ โดยหากเจ้าของอาคารไม่ดำเนินการตามคำสั่งก็จะมีความผิดตามกฎหมาย
ส่วนกลุ่มอาคารขนาดเล็ก เช่น บ้านเรือนของประชาชน ก็มีการรับเรื่องร้องเรียนผ่าน Traffy Fondue ส่วนอาคารในต่างจังหวัดนั้นมีกรมโยธาธิการและผังเมืองของแต่ละจังหวัดเป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนตรวจสอบอาคาร และมีทีมประจำจังหวัด โดยได้ดำเนินการตรวจสอบไปแล้ว 31 จังหวัด รวมกว่า 190 อาคาร