เปิด 4 ข้อสันนิษฐาน สาเหตุตึกถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง

เปิด 4 ข้อสันนิษฐาน สาเหตุตึกถล่ม จากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรง ทั้งเสาชลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง

วันที่ 28 มี.ค.68 หลังเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว ศูนย์กลางประเทศเมียนมา ในเวลา 13.20 น. วันที่ 28 มี.ค.68 โดยแรงสั่นสะเทือนรุนแรงมาถึงประเทศไทย ทำให้มีอาคารที่กำลังก่อสร้างพังถล่ม คอนโดหลายแห่งได้รับความเสียหาย

โดยเฉพาะอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อเหตุ ความสูง 30 ชั้น มูลค่ากว่า 2,136 ล้านบาท แล้วเกิดพังถล่มลงมาเมื่อเกิดแผ่นดินไหว ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย

ท่ามกลางสังคมที่ตั้งคำถามและสาเหตุของอาคารของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่ที่กำลังก่อเหตุแล้วพังถล่มลงมา

ล่าสุด ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทยและนักวิจัย สกสว. ตั้งข้อสังเกตจุดเริ่มต้นของการถล่มว่า จุดที่พังทลายที่สำคัญ 3 จุดได้แก่

1.เสาชลูดชั้นล่างหักที่บริเวณกลางเสา
2.รอยต่อระหว่างพื้นไร้คานกับเสาชั้นบนเฉือนขาดในแนวดิ่ง
3.การพังที่เกิดจากปล่องลิฟต์

โดยในขณะนี้ยังไม่สรุปว่า จุดเริ่มต้นการถล่มเกิดที่จุดใด แต่ไม่ว่าจะเกิดขึ้นจากจุดใดก่อน ก็สามารถทำให้อาคารถล่มราบคาบลงมาเป็นทอดๆ ได้ ซึ่งในทางวิศวกรรมเรียกว่า Pancake collapse

ปัจจัยหนึ่งที่อาจเป็นสาเหตุการถล่มได้คือการสั่นพ้อง (resonance) ระหว่างชั้นดินอ่อนกับอาคารสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผ่นดินไหวระยะไกลจากเมียนมา เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงชั้นดินอ่อนกรุงเทพฯ จะเป็นแผ่นดินไหวแบบคาบยาว (long period) ซึ่งจะกระตุ้นอาคารสูงได้ เนื่องจากมีคาบยาวที่ตรงกันระหว่างอาคารกับชั้นดินอ่อน

และอาจมีปัจจัยอื่นที่ต้องพิจารณา เช่น ตัวปั้นจั่นที่ติดตั้งในปล่องลิฟต์ มีการสะบัดตัวและส่งผลกระทบต่อโครงสร้างอย่างไร ยังต้องพิสูจน์

ส่วนอีกประเด็นสำคัญคือ คุณภาพวัสดุก่อสร้าง เช่น คอนกรีต และเหล็กเสริมว่ามีกำลังรับน้ำหนักเพียงใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล็กเส้นที่นำมาใช้ ได้มาตรฐานและมีความเหนียวเพียงพอหรือไม่ จึงจำเป็นต้องตรวจสอบทุกปัจจัย ก่อนจะสรุปสาเหตุได้

Leave a Comment